posttoday

“สนช.” ผ่าน3วาระรวด งบกลางปี 1.5 แสนล้าน

22 มีนาคม 2561

มติสนช. ผ่านฉลุย3วาระรวด งบกลางปี 1.5 แสนล้าน วอนรัฐคุม-ติดตามการใช้งบให้โปร่งใส ส่งเงินให้ถึงมือชาวบ้าน

มติสนช.  ผ่านฉลุย3วาระรวด งบกลางปี 1.5 แสนล้าน วอนรัฐคุม-ติดตามการใช้งบให้โปร่งใส ส่งเงินให้ถึงมือชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นจำนวนไม่เกิน 100,358,077,000  บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 49,641,923,000 บาท 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่า จะเน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ และการรักษาวินัยการคลัง แบ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร 24,000 กว่าล้านบาท การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน 76,000 กว่าล้านบาท และการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายเงินคงคลังที่จ่ายไปแล้ว 49,600 กว่าล้านบาท ซึ่งจะสร้างความเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6  ดีขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9

สำหรับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มประจำปีงบประมาณพ.ศ.2561จำนวน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการตามภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลและตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศจำนวน24,300,694,500 บาท เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร พัฒนาศักยภาพการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและลดต้นทุนการผลิต

2.ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 76,057,382,500 บาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม

3.รายการค่าดำเนินการภาครัฐจำนวน 49,641,923,000 บาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว

สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ.2561 จำแนกตามกระทรวง ดังนี้ 1.งบกลาง จำนวน 4,600,000,000 บาท 2.กระทรวงการคลัง จำนวน 5,325,000 บาท 3.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 106,291,000 บาท 4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 22,742,165,700 บาท 5.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 72,000,000 บาท 6.กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 258,400,300 บาท 7.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 31,875,769,000 บาท 8.กระทรวงแรงงาน จำนวน 2,120,025,400 บาท 9.กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 68,118,500 บาท 10.กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 498,602,100 บาท 11.รัฐวิสาหกิจ จำนวน 3,988,866,800 บาท 12.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 34,022,513,200 บาท และ 13.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 49,641,923,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมนั้น สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายสนิท อักษรแก้ว นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล นายวิทยา ฉายสุวรรณ และพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต ต่างอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่าจัดสรรงบประมาณได้ตรงจุด รวมถึงเป็นการนำงบประมาณไปช่วยเหลือชาวบ้านโดยตรง เน้นสร้างความเติบโตเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลควบคุมและติดตามการใช้งบประมาณจำนวน 1.5 แสนล้านบาทให้เกิดความโปร่งใสเพื่อให้เงินถึงมือชาวบ้านจริงๆ ด้วย ทั้งนี้ ไม่มีรัฐบาลไหนเอาใจใส่ประชาชนเหมือนกับคสช. เป็นรัฐบาลที่มีผลงานมาก แต่ประชาชนระดับล่างไม่ค่อยรับรู้ จึงถูกนักการเมืองใช้วาทกรรมต้องมีการเลือกตั้งแล้วเศรษฐกิจจะดี อยากให้รัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์ผลงานโดยเฉพาะเรื่องระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศที่เป็นผลงานที่เห็นได้ชัดเจนของคสช.ด้วย

นายวิทยา ฉายสุวรรณ สนช. อภิปรายขอให้รัฐบาลปรับวิธีช่วยเหลือประชาชน คือ จัดสรรเงินให้ประชาชน คนละ 1หมื่นบาท เพราะปัญหาขณะนี้ประชาชนไม่ต้องการเบ็ดตกปลา แต่ต้องการปลาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ ด้วยภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ประชาชนฐานรากจะตายกันอยู่แล้ว ส่วนเงินที่ต้องลงชุมชนโดยไม่มีค่าตอบแทนถือว่าเสียเวลาและไม่ได้อะไร

ด้านนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ สนช. อภิปรายเสนอให้เน้นการรักษาเสถียรภาพที่ดี เช่น รายได้ของเกษตรกร , ผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่มีกติกาแข่งขันที่เหมาะสม ขณะที่การส่งเสริมศักยภาพชุมชนต้องพัฒนาให้ทันเทคโนโลยี ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาควรกำหนดประเด็นที่ทำให้เกิดการต่อรองที่เหมาะสม

ภายหลังจากที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมสนช.จึงลงมติรับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนนเห็นชอบ 194 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในวาระ2 และ 3 ก่อนที่ที่ประชุมสนช.จะลงมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 183 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง