posttoday

"เลขาสภาฯ"ขอโทษยันไม่ได้ปรับแบบก่อสร้างสภาใหม่

20 มีนาคม 2561

“เลขาสภาฯ” ขอโทษ บอกให้ข่าวผิด ยันไม่ได้ปรับแบบก่อสร้างสภาใหม่ “สุชาติ” เสียงอ่อย “รัฐสภา” เปิดใช้ได้ แต่ผิดระเบียบกทม. เหตุที่จอดรถไม่สอดคล้องพื้นที่ใช้สอย ด้าน “ซิโน-ไทย” ยัน ทำตามแบบที่ได้สัญญามา ไม่มีปรับแบบ

“เลขาสภาฯ” ขอโทษ บอกให้ข่าวผิด  ยันไม่ได้ปรับแบบก่อสร้างสภาใหม่ “สุชาติ”  เสียงอ่อย “รัฐสภา” เปิดใช้ได้ แต่ผิดระเบียบกทม. เหตุที่จอดรถไม่สอดคล้องพื้นที่ใช้สอย ด้าน “ซิโน-ไทย” ยัน ทำตามแบบที่ได้สัญญามา ไม่มีปรับแบบ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายพีระ นาควิมล  ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องการสร้างที่จอดรถในอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่นายสรศักดิ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเราไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างที่จอดรถไม่เพียงพอเลย เรื่องนี้ต้องอ้างอิงสัญญาออกแบบเลขที่ 23/2553 โดยมีกิจการร่วมค้าสงบ 1051 เป็นผู้ออกแบบ โดยในการจ้างออกแบบของรัฐสภานั้น ได้จ้างกิจการร่วมค้าสงบฯ ให้ออกแบบในพื้นที่ใช้สอย 3 แสนกว่าตารางเมตร ซึ่งต้องมีที่จอดรถจำนวน 1,800 คัน แต่เมื่อแบบออกมาจริงๆแล้ว กลับมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนกว่าตารางเมตร ซึ่งจะต้องมีที่จอดรถจำนวน  3,500 คัน แต่บริษัทออกแบบไม่ได้ออกแบบที่เพิ่มที่จอดรถตามพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้น

นายพีระ กล่าวต่อว่า จึงเป็นปัญหาว่าคณะกรรมการตรวจรับงานออกแบบ เพื่อนำมาประมูลซึ่งบ.ซิโน-ไทยประมูลได้นั้น รับแบบมาได้อย่างไร ตรงนี้ไม่ใช่ความผิดของซิโน-ไทยเลย เรามีหน้าที่ก่อสร้างตามแบบที่ได้สัญญามา ไม่ได้ไปตัดที่จอดรถออกตามที่เป็นข่าว

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ฐานะผู้บริหารงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ ย่านเกียกกาย กล่าวถึงกรณีที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าทางบริษัทฯ ปรับแบบการก่อสร้างพื้นที่จอดรถชั้นใต้ดิน ทำให้ลดพื้นที่จอดรถเหลือเพียง 2,000 คัน จากแบบเดิมที่จอดรถได้ จำนวน 3,000 คัน ว่า ตนยืนยันไม่เคยมีการปรับหรือแก้ไขแบบตามที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้นพื้นที่จอดรถจึงยังคงไปเป็นตามสัญญากำหนด อย่างไรก็ตามตนไม่ทราบว่าข่าวดังกล่าวถูกเปิดเผยด้วยสาเหตุอะไร แต่หากทำให้บริษัทได้รับผลเสียหายอาจพิจารณาตามกฎหมายต่อไป

นายภาคภูมิ  กล่าวว่า ยืนยันถึงกำหนดเวลาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่ต้องแล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่บางส่วนภายในสิ้นปี 2561  ว่าจะแล้วเสร็จอย่างแน่นอนตามสัญญา แม้ที่ผ่านมาบริษัทฯ จะเจอปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ รวมถึงปัญหาการขุดและขนดินพื้นที่ก่อสร้างก็ตาม ที่ทำให้เวลาดำเนินการก่อสร้างล่าช้ากว่าสัญญาเป็นเวลากว่า 3 ปีก็ตาม

“ความล่าช้าที่เกิดขึ้นและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อสัญญาก่อสร้างออกไปหลายครั้งนั้น ไม่ทำให้บริษัทได้กำไรจากการขยายเวลาก่อสร้างแต่อย่างใด เพราะในธุรกิจก่อสร้างต้องรับผิดชอบต่องาน และผู้ใช้แรงงาน เมื่อทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายเพราะติดเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ ทางบริษัทฯ จึงต้องรับผิดชอบต่อแรงงานที่เข้ามาทำงานด้วย” นายภาคภูมิ กล่าว

ด้าน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยืนยันว่าสำนักงานฯ ไม่มีการปรับแก้ไขหรือเปลี่ยนแบบแบบก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ ส่วนของพื้นที่จอดรถชั้นใต้ดิน หลังจากที่ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ฐานะผู้รับจ้างให้ข่าวเตรียมฟ้องร้องตนเพราะทำภาพลักษณ์เสียหาย พร้อมย้ำว่าการออกแบบก่อสร้างโดยทีมสงบ 1051 ผู้ชนะการประกวดการออกแบบอาคารสัปปายะสถาน ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทซิโน-ไทย โดยการออกแบบเมื่อปี 2554 ที่ออกแบบพื้นที่จอดรถชั้นใต้ดิน จำนวน 2 ชั้น จอดรถได้ ประมาณ 1,800 คัน นั้น ขัดกับเทศบัญญัติของเทศบาลกรุงเทพที่ต้องจัดที่จอดรถให้สอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอย โดยพื้นที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีพืนที่ใช้สอย 4 แสนกว่าตารางเมตร ต้องมีพื้นที่จอดรถ ประมาณ 4,000 คัน  อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ปัญหา ทางสำนักงานฯ เลือกหาวิธีอื่น เช่น เช่าพื้นที่จอดรถจากหน่วยงานใกล้เคียง ไม่ใช่แก้ไขหรือปรับแบบ

“ผมเชื่อว่าการเพิ่มงานให้กับผู้รับจ้าง เขาคงไม่รับ ที่เป็นข่าวออกมาอาจเป็นเพราะข่าวผิด ผมต้องขอประทานโทษ เรื่องแค่นี้เขาก็โกรธผม ทำให้ผมต้องออกมาแก้ไขข่าว และยืนยันว่าการเพิ่มพื้นที่จอดรถเป็นสิ่งที่สำนักงานฯ ต้องแก้ไขปัญหา โดยมีไอเดียต่างๆ ซึ่งยังไม่มีข้อยุติในขณะนี้” นายสรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสุชาติ โรจน์ทองคำ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีปัญหาในเรื่องที่จอดรถจริง เนื่องจากไม่เป็นตามกฎหมายของกรุงเทพมหานคร ที่มีกฎระเบียบในเรื่องการสร้างอาคารที่ต้องมีพื้นที่จอดรถตามพื้นที่ใช้สอย ปัญหาก็สืบเนื่องมาจากการออกแบบที่มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มที่จอดรถให้สอดคล้องกัน ซึ่งบ.ซิโน-ไทย ไม่ได้ทำอะไรผิด เขาก็ทำไปตามแบบที่ได้ประมูลมา แต่เราก็มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยให้ใช้พื้นที่ เช่น ลานประชาชน ริบขอบถนน พื้นที่ว่างที่สามารถจอดได้ภายในพื้นที่ของรัฐสภาใหม่ เป็นที่จอดรถเพื่อให้เพียงพอเป็นไปตามกฎระเบียบ

เมื่อถามว่าจะมีปัญหาในการเปิดใช้สภาใหม่หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า เรื่องการเปิดใช้สภาใหม่ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแน่นอน แม้จะไม่เป็นไปตามกฎหมายของกทม. แต่เมื่อเราเป็นหน่วยราชการด้วยกัน แล้วเราก็มีแนวทางแก้ปัญหา กทม. ก็จะคงจะอะลุ่มอล่วยในการเปิดใช้ได้

“ผมก็ห่วงอยู่ เพราะสภาเป็นหน่วยงานที่ออกกฎหมายแต่กลับจะทำผิดกฎหมายเสียเอง ก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ให้กับหน่วยราชการอื่นหรือเอกชนด้วย แต่อนาคตจะต้องมีการของบประมาณเพื่อนำมาสร้างที่จอดรถให้เพียงพอและเป็นไปตามกฎระเบียบแน่นอน” นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่าปัญหาคือคณะกรรมการตรวจรับการออกแบบที่ไม่ตรวจสอบให้เรียบร้องว่ามีการออกแบบให้มีที่จอดรถตามพื้นที่ใช้สอย จะดำเนินการอย่างไร นายสุชาติ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการชุดนั้นมีใครบ้าง แต่ก็อาจจะเป็นได้ที่ทางผู้ออกแบบบอกว่าที่จอดรถนั้น ได้ร่วมพื้นที่อื่นๆ เช่น ริบถนน ลานประชาชน เอามานับรวมกับที่จอดรถใต้ดิน ทำให้ได้ครับตามกฎระเบียบ คณะกรรมการฯ ก็อาจเห็นว่าถูกต้องจึงยอมรับแบบ เพื่อนำมาประมูลก็เป็นได้ แต่ข้อมูลที่ชัดเจนตนต้องขอตรวจสอบอีกครั้ง