posttoday

จี้ "กกต." คุมหาเสียงผ่านโซเชียล

18 มีนาคม 2561

เชื่อพลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองได้ แต่ต้องใช้แบบสร้างสรรค์ วอน กกต.วางกติกาให้ชัดช่วงเลือกตั้ง

เชื่อพลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองได้ แต่ต้องใช้แบบสร้างสรรค์ วอน กกต.วางกติกาให้ชัดช่วงเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย...จริงหรือ?” โดยยอมรับว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปโซเชียลมีเดียจะเป็นสมรภูมิหลักต่อสู้ทางการเมือง ในการระดมกำลังและการต่อสู้ทางการเมือง รวมถึงการรณรงค์หาเสียง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้นักการเมืองต้องปรับรูปแบบหาเสียงจากการจัดเวทีปราศรัยมาเป็นเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งอาจมีคนติดตามมากเช่นกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงควรมีวิธีการควบคุมการใส่ร้ายป้ายสีผ่านโซเชียลมีเดีย

“เกิดคำถามว่าหากมีคนที่อาจไม่ใช่ผู้สมัครเลือกตั้งมีการรับเงินเพื่อสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน และใส่ร้ายกล่าวหาใครผ่านโซเชียลมีเดีย จะผิดกฎหมายการเลือกตั้งหรือไม่ ถือเป็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กกต.ควรวางกติกาให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบ ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรในการนำพลังตรงนี้ไปสู่พลังสร้างสรรค์” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าพลังโซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงการเมืองได้จริง เพราะเป็นการต่อสู้ทางความคิดและข้อมูล โซเชียลมีเดียมีพลังในการตรวจสอบถ่วงดุล เห็นได้จากหลายกรณี อาทิ นาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แม้ยังไม่ได้คำตอบ แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลก็ได้รับผลกระทบทางคะแนนนิยมอย่างหนัก รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องระมัดระวังในการตรวจสอบ

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โซเชียลมีเดียทำให้ประชาธิปไตยของไทยไปสู่การเป็น Smart Democracy และทำให้พรรคการเมืองถูกลดความสำคัญ เนื่องจากประชาธิปไตยยุคใหม่จะกลับมาสู่ประชาชนโดยตรง ไม่มีเพศ หรือชนชาติ เปลี่ยนรูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน แบบมีส่วนร่วม และการชุมนุมทางการเมืองในอนาคตก็อาจเปลี่ยนรูปแบบไปด้วยเช่นกัน

ด้าน นายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 ใน 30 สมาชิก สนช.ที่เข้าชื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กล่าวว่า ไม่ได้มีเจตนายื้อโรดแมปเลือกตั้ง แต่เนื้อหาบางประเด็นไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกรงว่าอาจเกิดปัญหาถ้ามีผู้ไปยื่นตีความภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ และทำให้โรดแมปสะดุด ดังนั้น เมื่อเกิดเสียงทักท้วงจากนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธาน กรธ. จึงรวบรวมรายชื่อส่งตีความให้เกิดความชัดเจน