posttoday

ไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน! ศาลปกครองถอนคำชี้ขาด "อนุญาโตตุลาการ"

06 มีนาคม 2561

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้กรมควบคุมมลพิษไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน ชี้มีการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้กรมควบคุมมลพิษไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน ชี้มีการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา ในคดีที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 6 คน ร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2556 หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 ที่ให้ กรมควบคุมมลพิษชำระเงินจำนวน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,484,636 ดอลล่าร์สหรัฐ ตามสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นผู้คัดค้านและกระทรวงการคลัง ได้ร้องขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ โดยอ้างว่ามีคำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต และคำพิพากษาของศาลอาญา อันแสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการร่วมกันวางแผนและมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานะผู้แทนฝ่ายผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง

ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า กระทรวงการคลังไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ได้รับผลกระทบจากผลแห่ง คำพิพากษาโดยตรง จึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้คัดค้านมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ และศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยสรุปได้ดังนี

1. บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้นำโครงการของกิจการ ร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้กล่าวอ้างคุณสมบัติด้านการเงินของ บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ กรุ๊ป จำกัด โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าบริษัทดังกล่าวจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบในโครงการ และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีส่วนรับผิดชอบการลงทุนเฉพาะงานเดินระบบและซ่อมบำรุง ซึ่งมีมูลค่าของงานประมาณร้อยละ 10 ของราคาโครงการ การกระทำของเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ผู้รับจ้าง

2. เจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน ได้มีประกาศท้องที่ที่จะขายที่ดินสำหรับใช้ในโครงการ ซึ่งห่างไปจากที่บริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาไว้กว่า 20 กิโลเมตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด เป็นผู้เสนอขายที่ดินในบริเวณดังกล่าว อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทดังกล่าว ซึ่งมีความสัมพันธ์ในเชิงบริหารและเชิงทุนกับบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า

3. เจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดการประกวดราคา (TOR) ทำให้ที่ดินของกลุ่มบริษัทมารูเบนี่ คอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาอีกรายหนึ่งขาดคุณสมบัติ จึงเหลือที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในความควบคุมของกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เพียงรายเดียว ทำให้กลุ่มบริษัทอีกรายหนึ่งไม่มีที่ดินที่จะใช้ดำเนินโครงการและ ขอถอนตัว

4. สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาและกำหนดให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับผิดร่วมกันและแทนกันตามสัญญา แต่เจ้าหน้าที่ของ กรมควบคุมมลพิษได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความเป็นให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี รับผิดร่วมกัน โดยตัดข้อความที่ให้บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องรับผิดร่วมกันออก และในการลงนาม ในสัญญาได้ให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้ลงนามแทนกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ยื่นครั้งการประกวดราคา ซึ่งต่อมาบริษัทแม่ของบริษัทนอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้แจ้งขอถอนหนังสือ มอบอำนาจเดิมต่อเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษแล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบโดยอ้างว่าเป็นปัญหาภายใน ที่ไม่เกี่ยวกับกรมควบคุมมลพิษ อันเป็นการช่วยเหลือกิจการร่วมค้า หลังจากนั้นได้มีการยินยอมให้บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ่ง จำกัด ผู้ร้องที่ 6 ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

การกระทำของเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการขัดต่อระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีและกฎหมาย ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม การจัดหาที่ดิน การประกวดราคา และมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย โดยผู้ที่จะรับประโยชน์คือบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด และกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี สัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัด น้ำเสีย ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินจึงมีเหตุ ให้เพิกถอนได้ เนื่องจากการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554

ก่อนหน้านี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า 9 พันล้านบาท ให้กับ 6 บริษัท