posttoday

พท. ชี้ ผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไทยสะท้อนการตรวจสอบทุจริตยังมีปัญหา

22 กุมภาพันธ์ 2561

“เพื่อไทย” ชี้ ผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ของไทย สะท้อนการตรวจสอบทุจริตยังมีปัญหา

“เพื่อไทย” ชี้ ผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ของไทย สะท้อนการตรวจสอบทุจริตยังมีปัญหา

เมื่อวันที่ 22 กพ.  นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ผลดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index - CPI) ประจำปี 2560 ประเทศไทยได้คะแนนซีพีไอ 37 เต็ม 100 คะแนน ได้อันดับ 96 จากเดิม 101 เมื่อปี 2559 ซึ่งไทยได้คะแนน 35 คะแนน ว่า รัฐบาลคสช. และ ป.ป.ช. อย่าเพิ่งดีใจในผลคะแนนดังกล่าว องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) ชี้ว่า แทบไม่เห็นผลงานการปราบทุจริตของคณะรัฐประหารไทย ต่างจากที่ว่าไว้เมื่อเข้าสู่อำนาจ 4 ปีก่อน ปมแหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน สะท้อน ช่องโหว่ของกลไกคุณธรรมจริยธรรมของไทย จากสถิติ cpi index ในรอบหลายปี พบว่า คะแนนปีนี้ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 2 คะแนน ทำให้ลำดับดีขึ้น 5 ลำดับ แต่ก็ยังแย่กว่าปี 2558 ซึ่งเคยอยู่ลำดับที่ 76 และได้ 38 คะแนน

อีกทั้งคะแนนและลำดับที่ได้ในปีนี้ยังแย่กว่าในปี 2557 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศ และเป็นปีที่มีการรัฐประหาร สะท้อนว่าการที่รัฐบาลคสช.ประกาศจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เป็นประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช. มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการ ยังไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่อยู่อันดับต่ำมากๆ น่าจะมาจากสภาวะบ้านเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคการเมืองถูกห้ามทำกิจกรรมทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ประชาชนสื่อมวลชนถูกกันออกมานอกวงของการตรวจสอบและไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่ ปัญหาสำคัญคือการขาดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลต้องรับสภาพข้อเท็จจริงนี้ เพื่อนำไปแก้ไขต่อไป