posttoday

กมธ.หาทางออกปม "ที่มา สว." ไม่ได้

21 กุมภาพันธ์ 2561

กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายยังหาทางออกปม "ที่มาสว."ไม่ได้ นัดลงมติชี้ขาด 3 ประเด็น 27 ก.พ.นี้

กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายยังหาทางออกปม "ที่มาสว."ไม่ได้ นัดลงมติชี้ขาด 3 ประเด็น 27 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายสมคิด เลิศไพทูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม  3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุมพูดคุยใน 3 ประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่ม สว. ,วิธีการเลือกสว. และ การแบ่งประเภทการสมัครส.ว. แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะแต่ละฝ่าย ทั้ง สนช. และ กรธ. ต่างยืนยันในแนวคิดของตนเอง

อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการ 2-3 คน เสนอว่า แนวคิดของ สนช. ที่กำหนดการแบ่งกลุ่มส.ว. เหลือ 10 กลุ่ม และให้เลือกกันเอง รวมทั้งการแบ่งประเภทผู้สมัคร ได้ 2 แบบนั้น ให้นำไปเขียนในบทเฉพาะกาล และมีผลให้บังคับใช้ภายหลังที่กฎหมายประกาศ ส่วนแนวคิดของ กรธ.  ตามร่าง พ.ร.บ.เดิม ที่กำหนดกลุ่ม 20 กลุ่ม, ใช้วิธีการเลือกไขว้ และให้ผู้มีคุณสมบัติสามารถเข้าสมัครได้โดยไม่ต้องผ่านองค์กรใด ให้นำไปเขียนบทหลักของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.  ทั้งนี้จะมีการลงมติในเรื่องดังกล่าววันอังคาร ที่ 27 ก.พ.เวลา 15.00 น. 

พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กล่าวว่า นอกจาก 3 ประเด็นที่กรธ.กับสนช.ยังเห็นไม่ตรงกันนั้น ที่ประชุมยังได้ขอให้กมธ.ร่วมทุกคนไปทางพิจารณาหาบทลงโทษกรณีที่หน่วยงานหรือองค์กรส่งผู้สมัครส.ว. โดยใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จก็จะต้องมีบทลงโทษหน่วยงานนั้นด้วย ไม่ใช้ลงโทษเฉพาะตัวผู้สมัครเท่านั้น แนวทางการลงโทษจะเป็นวิธีทางปกครอง แต่ยังไม่รู้ว่า จะเป็นแนวทางใด จึงขอให้กมธ.ช่วยกันคิดเพื่อเสนอแนวทางเข้าเผื่อไว้ขหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งทุกประเด็นจะได้ข้อยุติในวันที่ 27 ก.พ.นี้

นายสมชาย แสวงการ เลขานุการ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ยังไม่ได้ข้อสรุปใน 3 ประเด็น โดยแต่ละฝ่ายยืนยันในเหตุผลของตนเอง ยังมีวิธีคิดที่แตกต่างกันอยู่ ดังนั้น ที่ประชุมให้แต่ละฝ่ายกลับไปทบทวนและทำการบ้านเพื่อที่จะหาแนวทางที่เป็นข้อยุติร่วมกันโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนมองว่า อาจไม่ถึงขั้นการลงมติเพื่อชี้ขาดก็ได้ ยังไม่ถือว่า เป็นความขัดแย้งกันระหว่าง กรธ.กับสนช.

ส่วนประเด็นเรื่องเวลาเข้าคูหาเลือกตั้งในร่างพ.รป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ที่ประชุมกมธ.ร่วม มีมติแก้ไขช่วยเวลาลงคะแนนเลือกตั้งจาก 07.00-17.00 น.เป็น 08.00 – 17.00 น.เพื่อให้เจ้าหน้าที่กกต.ได้รับความสะดวก มีเวลาเตรียมการเลือกตั้งก่อนลงเปิดได้ลงคะแนนได้มากขึ้น เพราะเห็นว่า 07.00 น.เป็นเวลาที่ฉุกละหุกเกินไป เจ้าหน้าที่กกต.อาจจะเตรียมตัวกันไม่ทัน