posttoday

ปรับ ภูมิใจไทย พ้นรัฐบาล แค่คิดแต่ยังไม่ถึงเวลา

11 ตุลาคม 2553

น่าสนใจไม่น้อยสำหรับกระแสข่าวในระยะหลังๆ มานี้ เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี ด้วยการเสนอสูตรใหม่ คือ ปรับพรรคภูมิใจไทยออก

น่าสนใจไม่น้อยสำหรับกระแสข่าวในระยะหลังๆ มานี้ เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี ด้วยการเสนอสูตรใหม่ คือ ปรับพรรคภูมิใจไทยออก

โดย...ทีมข่าวการเมือง

น่าสนใจไม่น้อยสำหรับกระแสข่าวในระยะหลังๆ มานี้ เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี ด้วยการเสนอสูตรใหม่ คือ ปรับพรรคภูมิใจไทยออก และให้กลุ่ม 3 พี พรรคเพื่อแผ่นดินเข้ามาเสียบแทน แม้ว่าจะมีคนทางซีกรัฐบาลจำนวนมากรวมไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะออกมาปฏิเสธกันเสียงแข็งว่ายังไม่มีแนวคิดในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีตามสูตรดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคภูมิใจไทยกำลังเป็นที่จับตามองจากสังคมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในการบริหารงานกระทรวงต่างๆ ที่เป็นโควตาของพรรคภูมิใจไทย

ปรับ ภูมิใจไทย พ้นรัฐบาล แค่คิดแต่ยังไม่ถึงเวลา

โดยต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า นับตั้งแต่ที่รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรน้อยที่สุด เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ทำให้ทุกย่างก้าวของพรรคนี้กลายเป็นที่จับจ้องเป็นอย่างมาก ยิ่งช่วงหลังๆ มานี้เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสกันหนาหู จึงไม่แปลกที่จะส่งผลให้กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีเริ่มดังมากขึ้น

กระทรวงหลักที่กลายเป็นจุดอ่อนของพรรคภูมิใจไทยหนีไม่พ้น “กระทรวงมหาดไทย” เพราะในระยะนี้มีเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์สารพัด เริ่มตั้งแต่การโยกย้ายข้าราชการกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายมงคล สุรัจสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง ที่ยังไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ ยังไม่นับประเด็นเรื่องของความอาวุโสที่ยังเป็นที่คลางแคลงใจว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ จนที่สุดแล้วต้องตั้งบุคคลอื่นเข้ามารักษาราชการแทนไปก่อน

ไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีเสียงครหาเกี่ยวกับการวิ่งเต้นผ่านทางนักการเมืองเพื่อให้ได้เก้าอี้พ่อเมืองในจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อรองรับการเลือกตั้ง เพราะแต่ละคนที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาอยู่ในจังหวัดใหม่นั้นเพิ่งผ่านงานในจังหวัดที่ตัวเองเคยทำงานมาก่อนหน้านี้ไม่ถึงปี เช่น นายเสริม ไชยณรงค์ จากรองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น หรือแม้แต่การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอประจำปี 2552 ของกรมการปกครอง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ใช่ว่ากระทรวงมหาดไทยจะเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหาเพียงแห่งเดียว เพราะกระทรวงพาณิชย์ ก็มีสภาพไม่แตกต่างกันหลังจากเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดขายข้าวล็อตล่าสุดให้กับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด 1.1 ล้านตัน ทั้งที่เป็นผู้ส่งออกรายเล็ก โดยกำลังมีการตรวจสอบว่าเป็นบริษัทที่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

รวมไปถึงกรณีการขายมันสำปะหลัง จำนวน 2.5 แสนตัน ให้กับ 3 บริษัท ที่มีความเกี่ยวข้องกับอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทั้งการขายข้าวและมันสำปะหลังกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจนกระทรวงพาณิชย์ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด

เช่นเดียวกับ กระทรวงคมนาคม ก็ยังคงเจอกับวงเวียนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ สารพัด โดยที่ถูกจับตาอย่างหนักคงหนีไม่พ้นโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 4,000 คัน โครงการถนนปลอดฝุ่นตามงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง และการสร้างเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนบางรายเป็นพิเศษ

ไม่ต่างอะไรกับ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ถึงแม้พรรคภูมิใจไทยจะไม่ใช่เจ้ากระทรวง แต่มีฐานะเป็น “รัฐมนตรีช่วย” ปรากฏว่าก็พบปัญหาความไม่โปร่งใสเช่นกัน ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร มีรายงานออกมาว่าการเปิดประมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กว่า 136 โครงการ มูลค่า 5,300 ล้านบาท มีแนวโน้มความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น โดยมีการรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนเป็นเงินราว 20-30%

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่เงื่อนปมความไม่โปร่งใสของพรรคภูมิใจไทยดังกล่าวนี้ มองในทางการเมืองไม่มีผลมากพอที่จะให้พรรคภูมิใจไทยพ้นรัฐบาล เพราะตัวเลข สส. ในมือของภูมิใจไทยตอนนี้ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยมีอยู่ถึง 58 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มากโขอยู่พอสมควร มีผลสำคัญต่อการคงอยู่ของเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เองยังต้องตัดสินใจกลืนเลือดตัวเองอยู่

กระนั้นไม่ได้หมายความว่า ไม่อยากปรับพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล แต่ติดอยู่ตรงประชาธิปัตย์เองยังไม่มั่นใจว่ากลุ่ม 3 พี พรรคเพื่อแผ่นดินของ พินิจ จารุสมบัติ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี และปรีชา เลาหพงศ์ชนะมี สส.ในมือเท่าไหร่กันแน่ และเพียงพอต่อการประคับประคองเสียงในสภาได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หากเขี่ยภูมิใจไทยพ้นรัฐบาลไป เลยทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องปล่อยเรื่องนี้ลอยตามลมไปก่อน
จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ข่าวปรับ ครม.ที่เกิดขึ้นเวลานี้ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงได้

ทั้งนี้ ในส่วนของภูมิใจไทยก็ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไป เพราะเนวิน ชิดชอบ แกนนำคนสำคัญ ได้สั่งให้ทีมโฆษกพรรคจัดแถลงข่าวทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อเป็นการสื่อสารกับประชาชน พร้อมกับให้รัฐมนตรีที่มีส่วนพัวพันกับความไม่ชอบมาพากลมาใช้เวทีนี้เพื่อชี้แจงข้อสงสัยของสังคมด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของภูมิใจไทย เนื่องจากเริ่มมีการประเมินว่าหากปล่อยให้ความไม่โปร่งใสยังผูกติดกับชื่อ “ภูมิใจไทย” ต่อไปจะส่งผลต่อคะแนนความนิยมในอนาคตช่วงหาเสียงเลือกตั้งด้วย

เพราะฉะนั้น ที่สุดแล้วข่าวการเขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาลจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาที่จะเอื้ออำนวยให้พรรคประชาธิปัตย์อาจหาญตัดสินใจออกมามากกว่า เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการอยู่หรือไปของรัฐบาล