posttoday

3พรรคยืนยันไม่ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม "อยากเลือกตั้ง"

18 กุมภาพันธ์ 2561

พรรคการเมืองไม่ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม" อยากเลือกตั้ง" เพื่อไทยวอนขอให้เข้าใจเป้าหมายเหมือนกัน แต่วิธีการต่างกัน

พรรคการเมืองไม่ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม" อยากเลือกตั้ง" เพื่อไทยวอนขอให้เข้าใจเป้าหมายเหมือนกัน แต่วิธีการต่างกัน

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองเข้าร่วมชุมนุมกลับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า เรื่องนี้ตนได้ฟังหลายคนพูดดูแล้วก็มีเหตุผล หากมีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเข้าไปร่วมชุมนุมกับภาคประชาชน จะทำให้การต่อสู้ของภาคประชาชนสูญเสียงความชอบธรรมไป ไม่ว่าจะด้วยการถูกบิดเบือนหรืออะไรก็ตาม เพราะจะเห็นได้ว่าเขาเริ่มจำแนกแยกแยะภาคประชาชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองแล้ว ซึ่งก็เป็นความพยายามทำลายความชอบธรรม อีกทั้งหากคนที่เป็นแกนนำในการชุมนุมถูกมองว่าอยู่พรรคนั้น อยู่พรรคนี้ ก็จะทำให้ประชาชนคนอื่นอาจไม่เข้าร่วม ก็จะเป็นผลเสียกับภาคประชาชนอีก ตนอยากให้การชุมนุมนั้นเป็นไปตามธรรมชาติ อย่าเรียกร้องให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเข้าไปร่วมเลย เราคงไม่ได้เอาเปรียบอะไร แต่ไม่อยากให้เสียความชอบธรรม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็คงไม่ตอบรับในข้อนี้ แต่หากจะมีนักการเมืองคนไหนเข้าร่วมก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม ตนอยากบอกว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วย เพราะเขาออกมาเรียกร้องด้วยความชอบธรรม มีสิทธิในการเรียกร้อง เนื่องจากที่ผ่านมานายกฯ บอกจะเลือกตั้งช่วงนั้น ช่วงนี้ แต่ก็เลื่อนไปตลอด ซึ่งเมื่อเขาออกมาเรียกร้องตามวันที่ได้ประกาศไว้ก็ถือเป็นความชอบธรรมของเขา

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องนี้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพูออยู่เสมอว่าหากการเลือกตั้งเลื่อนออกไปด้วยปัจจัยทางกฎหมาย เช่น กฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส. ที่เลื่อนออกไป 90 วัน ตรงนี้ก็ยังถือว่าพวกเรารับได้อยู่ เรายังมั่นใจใจคำพูดนายกฯว่าจะรักษาคำพูด ซึ่งการเลือกตั้งก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 62 ดังนั้นเมื่อเชื่ออย่างนี้ พรรคภูมิใจไทยก็ไม่จำเป็นที่ต้องไปร่วม เราคงไม่แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะยังเชื่อมั่นคำพูดนายกฯ อีกทั้งการเป็นพรรคการเมืองในขณะนี้เจอล็อคทุกทางคงขยับตัวยาก

"ส่วนตัวผมคิดว่าหากการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้คือ ต้นปี62 เมื่อตอนนี้ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยจะมีท่าทีอย่างไร แต่ส่วนตัวผมไม่รับได้ คงต้องมีการแสดงจุดยืนออกมาว่าไม่เห็นด้วย"นายศุภชัย กล่าว

ขณะที่ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายภาคประชาชนเรียกร้องนั้น เป็นเป้าหมายเดียวกันเรา คือการต่อต้านเผด็จการ และสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง แต่เราในฐานะพรรคการเมืองไม่อาจทำวิธีการเหมือนกับฝ่ายประชาชนได้ เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีกฎหมายกำหนอกรอบขอบเขตบทบาทในการทำหน้าที่ไว้ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพราะอาจเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคได้ หากเราผลีผลามทำอะไรลงไป อย่างก็ตามที่ผ่านมาเราได้แสดงบทบาทต่อเรื่องดังกล่าวตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ คือการแสดงความเห็น ออกแถลงการณ์ของพรรค ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองทำได้ในขณะนี้

"อย่าบอกว่าเราไม่ทำอะไรเลย มันไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองหรือกับนักการเมือง ที่ผ่านมานักการเมืองก็ถูกอีกฝ่ายพยายามปั้นให้เป็นตัวร้ายของบ้านเมือง ดังนั้นหากมีเราเข้าไปก็จะทำให้พลังของนักศึกษา ประชาชน ที่เป็นพลังบริสุทธิ์ ทำให้ไม่มีน้ำหนักในการต่อสู้ อาจถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมืองได้ ที่ผ่านมาเราอดทนที่ต้องเล่นบทบาทตามที่กฎหมายกำหนด ก็หวังว่าฝ่ายภาคประชาชนจะเข้าใจ เราไม่ได้เอาเปรียบ ที่ผ่านมาเรารณรงค์เรื่องนี้มาตลอด เพียงแต่ไม่สามารถยกขบวนลงไปกลางถนนได้ อย่างนั้นก็จะเป็นเหยื่อทันที"นายสามารถ กล่าว