posttoday

กลุ่มวีวอล์คถึงขอนแก่นปักธงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประกาศความสำเร็จ

16 กุมภาพันธ์ 2561

“People Go Network” ปักธงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ประกาศความสำเร็จกิจกรรม “we walk เดินมิตรภาพ” 8 แสนก้าว เรียกร้อง 4 ประเด็น หลังรัฐบาลไม่สนใจแก้ปัญหา

“People Go Network” ปักธงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ประกาศความสำเร็จกิจกรรม “we walk เดินมิตรภาพ” 8 แสนก้าว เรียกร้อง 4 ประเด็น หลังรัฐบาลไม่สนใจแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 16 กพ. ที่จังหวัดขอนแก่น หลังจากที่กลุ่ม People Go Network Forum จัดกิจกรรม "We Walk  เดินมิตรภาพ" เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต โดยการเดินเท้าจาก ม.ธรรมศาสตร์รังสิต ไป จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. – 17 ก.พ. เพื่อรณรงค์ 4 ประเด็นหลัก 1.หลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกข์สุขคนในประเทศ 2.นโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงทางอาหาร 3.กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนดูแลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และ 4.การมีส่วนร่วมและเคารพรัฐธรรมนูญ

ถึงวันนี้ เป็นวันสุดท้ายในการเดินรณรงค์โดยแบ่งเป็น 4 เส้นทาง 4 ประเด็น โดยเส้นทางที่ 1 ประเด็นประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ จุดเริ่มต้น : ปากซอยโรงเรียนกุดกว้าง ซอยธรรมสาธิต ระยะทาง 7.7 กม. เส้นทางที่ 2 ประเด็นหลักประกันสุขภาพและรัฐสวัสดิการ จุดเริ่มต้น บริเวณแยกสนามบิน ระยะทาง 5.7 กม. เส้นที่ 3 ประเด็นเกษตรและความมั่นคงทางอาหารจุดเริ่มต้นที่ศูนย์ฝึกตำรวจภูธรภาค 4 ระยะทาง 5.8 กม. และเส้นที่ 4 ประเด็นทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน เริ่มต้น : โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่ ระยะทาง 4.7 กม.โดยทุกเส้นทางนัดรวมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น

กระทั่งเวลาประมาณ 11.20 น. มวลชนเครือข่ายประชาชน People Go Network Forum จากทั้ง 4 เส้นทาง ประมาณ 200 กว่าคน ได้เดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรวมตัวกันประกาศความสำเร็จการทำกิจกรรม แม้ในช่วงเริ่มต้นต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคจากการสกัดกั้นของฝ่ายรัฐ โดยกิจกรรมการประกาศความสำเร็จนี้ มีทั้งการปักธงของเครือข่ายที่เข้าร่วมเดินมิตรภาพ การประทับรอยเท้าบนแผนที่จำลองเส้นทางเดินระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต-จ.ขอนแก่น  พร้อมกับได้อ่านแถลงการณ์ว่า วันนี้พวกเราขบวน  “We  walk เดินมิตรภาพ” ได้มาถึงจุดหมายปลายทางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่นแล้ว เป็นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนาน การมาถึงขอนแก่นของเราเป็นความหวังของการเริ่มต้นของประชาชน เริ่มต้นที่จะเดินเพื่อเสรีภาพ เราหวังว่าจะมีการ “เดินพหลโยธิน” “เดินเพชรเกษม” “เดินราชดำเนิน” ต่อไป เพื่อทวงถามเสรีภาพ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวผู้คนสามัญชนคนธรรมดาที่เขาเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ฉะนั้นการเดิน 8 แสนก้าวของเรามาหยุดที่นี่ เพื่อให้ก้าวที่ 800,001 ได้เริ่มต้น ไม่ว่าจะที่ไหน เพื่อให้เห็นว่าประชาชนมีสิทธิเดิน เพื่อมิตรภาพ เพื่อเสรีภาพ เดินไปหาอนาคตของเราเอง ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้ เป็นโอกาสที่ก้าวที่ 800,001 จะได้เริ่มต้น จึงขอจารึกคำหนึ่งไว้ คือ “ประชาธิปไตย = ประชาชน”

ทั้งนี้ "We Walk เดินมิตรภาพ" เป็นกิจกรรมของเครือข่ายภาคประชาชนในชื่อเครือข่าย "People Go Network" ซึ่งเครือข่ายนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปลายปี 2559 โดยเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในด้านต่างๆ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน การศึกษา สุขภาพ ที่ดินป่าไม้ สวัสดิการของรัฐ หรือความเดือดร้อนของชาวบ้านในประเด็นต่างๆ

ในเดือนธันวาคม 2559 เครือข่ายได้เปิดตัวครั้งแรกในกิจกรรม "ก้าวไปด้วยกัน : ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน"  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนั้นทางเครือข่ายได้มีคำประกาศ "วาระประชาชน 2560 ต้องอยู่เหนือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ออกมา โดยเครือข่ายภาคประชาชน 109 องค์กรร่วมลงชื่อ

สำหรับกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" นี้ เริ่มต้นเป็นความร่วมมือของ 4 เครือข่ายหลัก ได้แก่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายเกษตรกรรรมทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายทรัพยากรและสิทธิชุมชน เครือข่ายนักวิชาการ นักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การ เลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และล่าสุดได้มีเครือข่ายสลัม เข้าร่วมด้วย ทั้งหมดรวมกันเป็นเครือข่าย People Go Network Forum

กิจกรรมของทางกลุ่มคือ การเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยัง จ.ขอนแก่น ซึ่งคาดว่าการเดินทั้งหมดจะประมาณ 800,000 ก้าว โดยตั้งเป้าว่าในระหว่างทางจะมี "เพื่อน" เพิ่มขึ้นก้าวละ 1 คน ภายใต้สโลแกน "เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต"

จากความสำเร็จในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ หนึ่งในเครือข่ายกลุ่ม People go network กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเราประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมแล้ว แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ก็ทำให้เห็นว่าเราทำได้ เพื่อมุ่งสู่ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป้าหมายหลักๆของเราในการเดิน ต้องบอกว่าที่ผ่านมาภาคประชาชน ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้สื่อสารกับสังคมไม่ว่าจะประเด็นไหนๆ  และที่ผ่านมาเราพยายามใช้ทุกช่องทาง ที่รัฐบอกว่าเปิดช่องทางให้ประชาชนได้เข้าไปสื่อสารกับรัฐ  เช่น ศูนย์ดำรงธรรม หรือการเข้าพบบุคคลต่างๆในระบบราชการ แต่ไม่เห็นผลในการแก้ไขปัญหา เราคิดว่าอยากทำให้คนไทยอื่นๆ ได้รับรู้ปัญหา จึงคิดว่าเราไม่คุยกับรัฐแล้ว จึงออกมาคุยกับพี่น้องประชาชนตามเส้นทางการเดิน เดินแบบไม่รีบ เดินไปคุยไป คือสิ่งที่เราตั้งใจ เพื่อเป้าหมาย 4 เรื่องอย่างที่ทราบกันไปแล้ว คือ 1.หลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกข์สุขคนในประเทศ 2.นโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงทางอาหาร 3.กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนดูแลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และ 4.การมีส่วนร่วมและเคารพรัฐธรรมนูญ

น.ส.แสงศิริ กล่าวว่า เราไม่ได้มีข้อเรียกร้องอะไรกับรัฐ สิ่งที่เราต้องการคือ การสื่อสารไปถึงประชาชน  แต่หากสิ่งที่เรารณรงค์ได้รับการตอบรับจากรัฐก็เป็นสิ่งที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์ ซึ่งการที่เราออกมาสื่อสารกับสังคม แล้วหากประชาชนรับรู้ แล้วรู้สึกว่าอยากจะร่วมแก้ไขในปัญหาแต่ละเรื่องที่เราสื่อสาร เสียงของเขาก็น่าจะส่งตรงถึงรัฐหรือคนที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ใช่เฉพาะเสียงของเรา ก็คาดหวังตรงนั้นด้วย 

น.ส.แสงศิริ กล่าวว่า จากการเดินตั้งแต่เริ่มต้นมาจึงถึงวันสุดท้ายเราคิดว่าสิ่งที่ได้สื่อสารออกไปชัดเจนในแต่ละประเด็นคือ ประเด็นที่ 1 เรื่องรัฐสวัสดิการและระบบหลักประกันสุขภาพ เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ทุกคนทราบดีว่ามันไม่รอบด้าน การแก้ต้องยึดหลักการไม่ลดทอนสิทธิประชาชน  เช่น มีแนวโน้มจะให้ประชาชนร่วมจ่าย ซึ่งสิ่งที่เราเรียกร้องมาโดยตลอดคือ อยากให้ยุติการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน แล้วมาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ หลังจากที่เรามีประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐเองไม่ได้สนใจ มุ่งหน้าจะแก้อย่างเดียว เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เรื่องนี้เป็นแนวนโยบายพื้นฐานที่รัฐต้องคิดให้รอบคอบจริงๆ  รวมถึงประเด็นรัฐสวัสดิการอื่นๆ เราก็ได้มีการสื่อสายกับประชาชนว่าเขาคิดกันอย่างไรด้วย ควรมีรัฐสวัสดิการแบบไหนที่เป็นพื้นฐาน เช่น  การศึกษาฟรี การมีระบบบำนาญพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนที่สูงวัย แยกตามความยากจนให้เขามีชีวิตอยู่ได้ไม่ลำบาก

ประเด็นที่ 2 เรื่องเกษตรทางเลือกและคามมั่นคงด้านอาหาร ตอนนี้มีความพยายามผูกขาดเมล็ดพันธุ์ พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสมาชิกภาคี UPOV ผ่านการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ซึ่งการเป็นสมาชิกภาคีนี้ จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ ซึ่งจะปลูกต้องไปซื้อจากพันธุ์จากบริษัท ห้ามเก็บไว้จะถือว่ามีความผิด ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากังวลของเกษตรกร

ประเด็นที่ 3 เรื่องทรัพยากร หลักๆก็คือการแก้ไขพรบ.สิ่งแวดล้อมปี 2535 เราคิดว่าหากจะมีการแก้ ก็ควรทำให้มีมาตรฐานในหลายประเด็น เช่น การยกระดับมาตรฐานของ EIA มีการประเมินที่รอบด้านมากขึ้น การมีส่วนร่วมต่างๆ เราได้มีการเสนอความเห็นตามขั้นตอนต่างๆไปทุกขั้นตอนแล้ว สุดท้าย สนช. ก็ไปแก้ไขอยู่มาตราเดียวคือเกี่ยวกับ EIA ซึ่งนอกจากไม่ทำให้ดีขึ้นแล้ว ยังลดมาตรฐาน EIA ลง ระยะเวลาทำได้เร็วขึ้น หรือบางโครงการบอกว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ ก็สามารถทำโครงการไปด้วยและทำ EIA ไปด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ไม่มีประโยชน์ในการแก้เลย ไม่มีความจริงใจในการแก้ ทั้งที่ภาคประชาชนได้ส่งข้อมูล ร่างกฎหมายภาคประชาชนให้ตลอด แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ดังนั้นการออกมาเดินอย่างนี้ก็เพราะเราหมดหวังกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เราจึงตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ

ประเด็นที่4 ชัดเจนตั้งแต่เราเดินทางออกมาจากกรุงเทพฯ แล้วว่านี่คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทุกคนมีเสรีที่จะสื่อสาร พูด หรือคิดที่จะแสดงความเห็น เราคิดว่าหากเราใช้รัฐธรรมนูญนี้ เราก็ควรมีสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องมุ่งสู่การเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อที่กระบวนการต่างๆ เช่น หากเรามองว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา เมื่อมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลที่มาจากประชาชนแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้ดีขึ้น ก็ควรจะเกิดขึ้น การแก้ไขกฎหมายที่มีการมีส่วนร่วมก็ควรจะเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ที่ไม่มีใครมามีอำนาจกดดันเราแบบนี้

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราอยู่ในภาวะที่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อกดดันเรียกร้อง นั่งประชุมอนุกรรมการต่างๆ เราทำทุกอย่างตามระบบราชการแล้วแต่มันไม่เกิดผล ดังนั้นการเดินครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ว่า บางทีคนก็หมดหวังกับการแก้ปัญหาจากศูนย์กลางแล้ว เป็นสัญลักษณ์การกระจายอำนาจ เราไม่เป็นต้องไปเรียกร้องกับรัฐที่รับปากแล้วไม่ทำ เราเลือกเดินมาสื่อสารกับคนในสังคมให้รู้ความจริงในสิ่งที่รัฐกำลังทำ แล้วที่เราเลือกเดินมาขอนแก่น เนื่องจากมันเป็นกิจกรรมการเดิน หากเดินวันเดียวคงได้เพื่อนกลุ่มไม่ใหญ่มาก ก็เลยคาดหวังจะเดิน 1 เดือน ชื่อถนนก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราหันหลังให้กับกรุงเทพฯ แล้วใช้ถนนมิตรภาพ ก็เป็นการสร้างเรื่องราว การหาเพื่อนของเรา รวมทั้งจากการประเมินระยะเวลาและระยะทางการเดินแล้ว ก็มาจบที่จังหวัดขอนแก่นพอดี ก็เป็นการหันหลังให้อำนาจ เดินบนถนนมิตรภาพ เพื่อหาเพื่อน

น.ส.แสงศิริ กล่าวว่า ที่คิดว่าต้องเป็นพื้นที่ภาคอีสาน เพราะภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด ประชากร เกษตรกรเยอะที่สุด มีคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เราเรียกร้องเยอะ จึงคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีเราเลือกเดินมาที่นี่