posttoday

กม.กลับเป็นผู้ประกันตนฉลุย

16 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้ประกันตนกว่า 9 แสนคนเฮ สนช.ผ่านร่างกฎหมายการกลับเป็นผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนกว่า 9 แสนคนเฮ สนช.ผ่านร่างกฎหมายการกลับเป็นผู้ประกันตน 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกันหรือส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนภายในระยะเวลา 12 เดือน อันเป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและไม่อาจกลับเป็นผู้ประกันตนได้อีกสามารถขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนได้

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ประกันตนที่ขาดส่งเงินสมทบจนสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนแล้วจะสามารถเข้ามาเป็น ผู้ประกันตนได้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีคนที่พ้นสภาพอยู่ประมาณ 9 แสนกว่าคน

ทั้งนี้ คนที่ต้องการกลับเข้ามาในระบบประกันสังคมสามารถยื่นเรื่องได้นับตั้งแต่วันที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาจนถึงระยะเวลา 1 ปีหลังลงประกาศแล้ว โดยสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียวไปยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านได้

"ในการพิจารณาใช้เวลาไม่นาน หากคนที่เพิ่งพ้นสภาพไปไม่นานการตรวจสอบและอนุมัติทำได้เร็วภายใน 1 วัน แต่คนที่ขาดไปนานและมีข้อสงสัยอาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบสักระยะหนึ่งแต่ไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์ ยืนยันว่าขณะนี้ระบบประกันสังคมพร้อมแล้ว" นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวว่า การกลับเข้าระบบประกันสังคมไม่มีการเรียกเงินย้อนหลัง ผู้ที่มีความประสงค์จะกลับเข้าประกันสังคมให้เริ่มต้นส่งใหม่ได้ทันที เงินที่สะสมอยู่ก็สะสมต่อไป เช่น ถ้าอายุยังไม่ถึง 55 ปี ก็ยังไม่ได้รับเงินนั้น แต่ใครที่รับไปแล้วก็จะเริ่มต้นนับการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ใหม่

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนกระทรวงแรงงานมาสอบถามถึงการแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคมโดยเฉพาะที่มีข่าวจะใช้งบประมาณถึง 3,000 ล้านบาท

นายวิษณุ กล่าวว่า รู้สึกตกใจเหมือนกันที่กระทรวงแรงงานใช้สูตรการคิดแบบเดียวกับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) งบดังกล่าวเท่ากับการใช้เลือกตั้งระดับชาติ ทั้งที่เคยมีการทักท้วงเหมือนกันว่าอาจใช้งบเพียงแค่ 200-300 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต้องขอฟังคำชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงแรงงานก่อน