posttoday

สนช.เผยชื่อสมาชิกร่วมกมธ.3ฝ่ายถกกฎหมายลูกสส.-สว.

13 กุมภาพันธ์ 2561

วิปสนช.ตั้งขุนพลร่วมกมธ.3ฝ่ายพิจารณากฎหมายลูกสส.-สว. ด้าน "สมชาย แสวงการ" ซิวสองคณะ ยันไร้สัญญาคว่ำร่าง

วิปสนช.ตั้งขุนพลร่วมกมธ.3ฝ่ายพิจารณากฎหมายลูกสส.-สว. ด้าน "สมชาย แสวงการ" ซิวสองคณะ ยันไร้สัญญาคว่ำร่าง

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. แถลงว่า ที่ประชุมวิปได้พิจารณาถึงการตั้งคณะกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ในการพิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่สนช. ในวันที่ 15 ก.พ. นี้

ทั้งนี้ ซึ่งร่างกฎหมายลูกสส. ทั้งทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นแย้งใน 5 ประเด็น โดยประเด็นที่เห็นแย้งตรงกัน คือ การจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งอาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายลูกสว.นั้น ทางกรธ.โต้แย้ง 3 ประเด็น และทางกกต.โต้แย้ง 1 ประเด็น

สำหรับรายชื่อผู้ที่จะเป็นกมธ.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ สส. สัดส่วนสนช. ประกอบด้วย 1.นายวิทยา ผิวผ่อง 2.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ 3.นายชาญวิทย์ วสยางกูร 4.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และ5.นายสมชาย แสวงการ ส่วนรายชื่อกมธ.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ สว. สัดส่วน สนช. ประกอบด้วย 1.นายสมคิด เลิศไพรฑูรย์ 2.พล.อ.อู้ด เบื้องบน 3.พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ 4.นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และ5.นายสมชาย แสวงการ นอกจากนี้ คาดว่า ประธาน กกต. จะได้เป็น กมธ. โดยตำแหน่ง แต่ยังไม่มีการแจ้งชื่อมา

อย่างไรก็ดี การที่นายสมชาย เป็นกมธ. 2 คณะ เนื่องจากเป็นคนเสนอเกี่ยวกับการวิธีการเลือก สว. จากเลือกไขว้ให้เป็นเลือกตรง และที่มาจาก 20 กลุ่ม เป็น 10 กลุ่ม รวมทั้งการแบ่งประเภท สว.  ส่วนที่มีชื่อเป็นกมธ.ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธณรมนูญ สส. นั้น นายสมชายมาจากสัดส่วนคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

การพิจารณาของทั้ง 2 คณะ จะต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบภายในวันที่ 1 มี.ค. และหลังจากนั้นจะนำบรรจุเป็นระเบียบวาระและพิจารณาในสัปดาห์ต่อไป

ส่วนกระแสจะมีการคว่ำกฎหมายลูกนั้น ขณะนี้ยังไม่มี แต่หากจะคว่ำต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามโรดแมปและไม่น่าจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เพราะสนช.จะพิจารณาไปตามขั้นตอนของกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ