posttoday

บิ๊กตู่แจง"ไทยนิยม"เป็นเนื้อเดียวกับ"ประชารัฐ"

26 มกราคม 2561

พล.อ.ประยุทธ์สอนนิยามไทยนิยมคนละเรื่องชาตินิยมและเชื่อมโยงประชารัฐเน้นยั่งยืน ถูกต้อง มีคุณธรรม และรักสงบเหมือนเพลงชาติไทย

พล.อ.ประยุทธ์สอนนิยามไทยนิยมคนละเรื่องชาตินิยมและเชื่อมโยงประชารัฐเน้นยั่งยืน ถูกต้อง มีคุณธรรม และรักสงบเหมือนเพลงชาติไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อธิบายความหมาย ไทยนิยม ไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม

“ไทยนิยม”นั้น ไม่ใช่การสร้างกระแส “ชาตินิยม” เหมือนที่บางคนไม่เข้าใจสังคมของตน ไม่เข้าใจความเปลี่ยน แปลงของโลก แล้วพยายามบิดเบือนความคิดของผม โดยไม่ศึกษาให้ดี เพราะ “ชาตินิยม” นั้นจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภาย นอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิด ลัทธิของชาติอื่น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ชาตินิยม” จึงมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างสำนึกความรักชาติ แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้นั้นเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของ “ความเป็นไทย” โดยไม่ทิ้งหลักสากล ขอย้ำเราไม่ต้องไปทิ้งหลักสากล นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “ไทยนิยม”ที่กำลังกล่าวถึง

และ “ไทยนิยม” ก็ไม่ใช่ “ประชานิยม” เพราะ“ประชานิยม”เป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับ“ยัดเยียด”ทุกคน ได้ไป พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชน ด้วยการสร้างแนวคิด “บริโภคนิยม” ที่ผ่านมาประชาชนชอบ พอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้ เหมือนกับนโยบายที่ผ่านมาซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงอาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง

นายกฯ กล่าวว่า หลายๆ อย่างทำไม่ได้ ออกไม่ได้ เพราะทุกคนก็ต้องการคะแนนเสียงกันทั้งหมด เลยทำให้ปัญหาต่างๆ พอกพูน มาถึงรัฐบาล มาถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ งบประมาณต่างๆ นะครับ ซึ่งนับวันจะมีปัญหามากขึ้น เราถึงต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนนะครับ ว่าใครเดือดร้อนอะไรอย่างไร มากน้อยเพียงใด เราก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้ทั่วถึงนะครับ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้ความสำคัญ ให้มาก ว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ฉะนั้นคำว่า “ประชานิยม” นั้นแตกต่างจาก “ไทยนิยม” เพราะว่า“ไทยนิยม”เป็นการต่อยอดขยายผลจาก“ประชารัฐ”ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการ “ระเบิดจากข้างใน” การมีส่วนร่วมการรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการทำให้เกิดเป็น“3 ประสานก็คือ ราษฎร์, รัฐ และ เอกชน” ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใครเพราะทุกคนอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งสิ้นเพราะอยู่ในประเทศของเราเอง

ทั้งนี้ อาจจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ด้วยกลไก “ประชารัฐ” ของตน ของแต่ละท้องถิ่น ตรงความต้องการ และเมื่อมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว “ไทยนิยม” จึงเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการตามความนิยมของคนไทยทั้งประเทศ

นายกฯ ย้ำว่า ต้องนิยมในสิ่งที่ถูกที่ควร นิยมในสิ่งดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรืองของการมีคุณธรรมจริยธรรม ด้วย ไม่ใช่ว่านิยมอะไรก็ทำได้หมด คงไม่ใช่ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เราคนไทยเรารัก และนิยมทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ไม่นิยมไปทำอย่างอื่นก่อให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือน ทุกอย่างเหล่านี้ยังมีอยู่

เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสรรค์ “ไทยนิยม” ในสิ่งดีๆ ให้มากยิ่งขึ้น ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ เหมือนในเพลงชาติไทยของเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ระยะต่อจากนี้ไป มีความสำคัญมากเพราะต่อกันมาทั้งหมด จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเราต้องการอนาคตอย่างไร เราก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเพื่ออนาคตที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดี ในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นระยะต่อจากนี้ไปมีความสำคัญกับพวกเราทุกคนในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับลูกหลานของเราในอนาคตด้วย

ฉะนั้นจะเห็นว่า “ประชารัฐ” และ “ไทยนิยม” นั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน“ไทยนิยม”จะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้ายๆ กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด– กลุ่มจังหวัด – ภาค ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไก “ประชารัฐ”

ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้วนะครับ ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพ รวมของประเทศได้ ในที่สุด ก็อยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม, ประชารัฐ, ยั่งยืน 3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด