posttoday

สนช.นัดถกกฎหมายเลือกตั้ง25ม.ค. จับตายืดเวลาเพิ่มอีก

22 มกราคม 2561

สนช.นัดประชุมพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งวาระ2-3วันที่ 25 ม.ค.นี้ จับตาเสนอขยับเลือกตั้ง 120-180 วัน

สนช.นัดประชุมพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งวาระ2-3วันที่  25 ม.ค.นี้ จับตาเสนอขยับเลือกตั้ง 120-180 วัน

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีหนังสือนัดประชุมสนช.เป็นพิเศษในวันที่ 25 ม.ค. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.ในวาระที่ 2 และ 3 ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีนายวิทยา ผิวผ่อง สมาชิกสนช.เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้้งนี้ ในรายงานการประชุมของคณะกมธ.วิสามัญฯระบุว่าในมาตรา 2 ว่าด้วยระยะเวลาการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้นั้นคณะกมธ.วิสามัญฯเสียงข้างมากได้แก้ไขให้กฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่กมธ.วิสามัญฯในสัดส่วนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกอบด้วย นายประพันธ์ นัยโกวิท พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิชข และนายเจษฎ์ โทณะวณิก ไม่เห็นด้วย โดยขอให้กลับไปใช้กำหนดเวลาบังคับใช้กฎหมายตามเดิม คือ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และ นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช.ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย เสนอให้บังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งสส.เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับ กรธ. นายทวีศักดิ์ และ นายธานี จะขอใช้สิทธิอภิปรายในที่ประชุมสนช.เพื่อให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาดต่อไป

ด้าน นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่เสนอ 120 วันเนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับที่สนช.ออกไปและสุดท้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปฏิบัติตามได้เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ จึงต้องไปขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งขยายเวลา ดังนั้น หากคิดจะขยายเวลาร่างกฎหมายเลือกตั้งสส.ก็ควรให้เพียงพอเพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆเตรียมตัวได้ทัน  ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าระยะเวลา 120 วันเป็นเวลาที่เหมาะสมและและไม่ต้องให้ คสช.ใช้อำนาจแก้ปัญหาอีก 

ทั้งที่ความจริงน่าจะขยายเวลาไปถึง  6 เดือน หรือ 180 วัน แต่ก็ยังไม่มีใครเสนอ  จึงเอาเพียงแค่ 120 วัน และในการประชุมในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ม.ค. ผมจะอภิปรายความจำเป็นว่าทำไมต้องขยายเวลาออกไป 120 วัน ส่วนสุดท้ายจะใช้ระยะเวลาเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสนช.

นายธานี กล่าวว่า เดิมตั้งใจจะขยายเวลาไปถึง 150 วัน  ส่วนเหตุผลทำไมจึงเสนอเวลาไปมากกว่า 90 วันนั้นขอไปชี้แจงผ่านการอภิปรายในวาระ2 และ 3 ในวันที่ 25 ม.ค. เนื่องจากคณะกมธ.วิสามัญฯตกลงกันว่าไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแถลงข่าวให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าจะเกิดความสับสน