posttoday

"พิชัย"เตือนตัวเลขเศรษฐกิจไม่สะท้อนความเดือดร้อนที่แท้จริง

14 มกราคม 2561

"พิชัย" เตือน รัฐบาล ตัวเลขเศรษฐกิจ ไม่สะท้อนความเดือดร้อนที่แท้จริง เย้ย 3 ปีกว่า พึ่งจะมาคิดช่วยคนจนเพราะต้องการหาเสียงใช่หรือไม่

"พิชัย" เตือน รัฐบาล ตัวเลขเศรษฐกิจ ไม่สะท้อนความเดือดร้อนที่แท้จริง เย้ย 3 ปีกว่า พึ่งจะมาคิดช่วยคนจนเพราะต้องการหาเสียงใช่หรือไม่

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวในงานสัมมนา ผลงานด้านเศรษฐกิจ 4 ปี ของรัฐบาล คสช. รอดหรือร่วง? จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ว่า 4 ปี การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ล้มเหลว พิสูจน์ได้จากผลสำรวจโพลทุกสำนักทุกครั้งที่ให้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาอันดับแรกของรัฐบาล คสช.  แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดจะไม่แย่ลงและดูเหมือนว่าจะดีขึ้นทั้งปี 60 และ ในปี  61 นี้ แต่ไม่ได้สะท้อนว่าความเดือดร้อนของประชาชนจะลดลง

ทั้งนี้เพราะผลประประโยชน์การเจริญเติบโตตกอยู่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้มีการกระจาย และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจาก การส่งออก และ การท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว หลังจากการส่งออกที่ตกต่ำและไม่ได้ขยายตัวมาหลายปี การท่องเที่ยวก็ขยายตัวเองตามศักยภาพเช่นกัน ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเลย

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ตลอด 3 ปีกว่าที่รัฐบาลบริหาร เศรษฐกิจโตเฉลี่ยเพียงปีละ 2.7% เท่านั้น ซึ่งถอว่าต่ำมาก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโตเฉลี่ย ใน 3 ปีกว่านี้ สูงกว่าไทยมาก ขนาดประเทศสหรัฐยังโตสูงมาก จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไทยโตได้น้อยในขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวดี  ทั้งนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเพิ่มขึ้นตลอด โดยตนได้เคยขอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมาตลอด 3 ปีกว่า แต่รัฐบาลพึ่งจะมาเริ่มดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในปีสุดท้าย ทั้งที่ควรทำตั้งแต่เริ่มเข้าบริหาร หากมีความตั้งใจจะช่วยประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง  นี่ก็จะออกงบประมาณกลางปีอีก 1.5 แสนล้านบาท ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าที่ต้องทำเพราะต้องการหาเสียงทางการเมืองใช่หรือไม่ เพราะพึ่งจะประกาศตัวเองว่าเป็นนักการเมือง

นอกจากนี้การให้บัตรคนจนซื้อของเฉพาะในร้านธงฟ้าประชารัฐที่มีผู้ผลิตไม่กี่รายได้ประโยชน์ จะถือเป็นการล็อกสเป็กจัดซื้อเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุนบางรายใช่หรือไม่ จึงอยากให้ สตง. และ ปปช. เข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังเป็นปัญหา ยอดการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำมาก ยอดขอบีโอไอ เหลือเพียง 6.4 แสนล้านเท่านั้น การลงทุนจริงยิ่งต่ำกว่ามาก และรัฐบาลไม่กล้าแถลงยอดการลงทุนใน EEC ที่ยังไม่ค่อยมีคนมาลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคงสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยจะหวังแต่การลงทุนในภาครัฐคงไม่ได้ แถมการลงทุนในภาครัฐก็เป็นไปอย่างช้ามาก ข้าราชการส่วนใหญ่คงอยากรอทำงานให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า เพราะสามารถตรวจสอบได้ ไม่อยากต้องตอบคำถามแบบคลุมเคลือเหมือน ปปช ที่ตอบเรื่องนาฬิกา

ทั้งนี้ อยากขอเตือนรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาหลายเรื่องเช่น ค่าบาทแข็ง พร้อมเพย์ล่มที่ตนเคยเตือนไว้ตั้งแต่รัฐบาลเริ่มใช้แล้ว และ บิตคอยน์ที่อาจจะเป็นปัญหาได้ เป็นต้น โดยอยากให้รัฐปรับแนวคิดให้ทันโลกเพื่อประเทศไทยจะได้สามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้