posttoday

ปชป.เล็ง 2 ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งคสช.

08 มกราคม 2561

ทีมกฎหมายประชาธิปัตย์เล็ง 2 ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสังคสช. เตรียมหารือ "มาร์ค" 9 ม.ค.

ทีมกฎหมายประชาธิปัตย์เล็ง 2 ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสังคสช. เตรียมหารือ "มาร์ค" 9 ม.ค.

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า  ที่ประชุมทีมกฎหมายมีความเห็นเบื้องต้นควรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้าคสช ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพบประเด็นว่า

1. แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะรับรองอำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไว้ แต่ก็ไม่สามารถใช้ออกคำสั่ง ที่ละเมิด รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติได้ และไม่ได้ใช้เพื่อการปฏิรูปและรักษาความสงบตามเงื่อนไขที่มาตรา 44 กำหนดไว้

2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ยังเข้าข่ายสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับสมาชิกพรรคการเมือง ที่ต้องทำหนังสือต่อหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน พร้อมต้องรับรองว่า มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้สมาชิกพรรคการเมือง ต้องไปขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กกต ศาลยุติธรรม ศาลล้มละลาย และอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 14 หน่วยงาน และเป็นไปไม่ได้ที่ คสช. และหน่วยงานเหล่านี้ จะอำนวยความสะดวกรับรองให้สมาชิกพรรคการเมือง ทั้งหมดราว 4 ล้านคน และถ้าไม่สามารถยืนยันได้ในกรอบเวลา ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

3.การออกคำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยังเข้าข่ายไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขไว้ และถือว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ

4. แม้คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ฉบับนี้ มีนัยยะ ต้องการให้สมาชิกพรรคการเมือง มีเวลาทบทวน ตัวเอง แต่ในขณะนั้นเอง พรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมเพื่อกำหนดนโยบายหรือตัวผู้บริหารพรรคได้ จึงไม่มีเหตุที่สมาชิกพรรคการเมืองต้องมาทบทวนตัวเอง

5.เนื้อหาสาระในคำสั่งฉบับนี้ เข้าข่าย เลือกปฏิบัติ ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองใหม่กับพรรคการเมืองเก่า

อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้(9ม.ค.) จะนำข้อสรุปของทีมกฎหมาย เข้าหารือกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อตัดสินใจ ว่าจะยื่น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือไม่ โดยเบื้องต้นแล้วคิดไว้ 2 ช่องทาง คือ สามารถยื่นในนามพรรคผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามช่องทางปกติ และสามารถยื่นส่วนบุคคลต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ในกรณีของสมาชิก พรรคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ