posttoday

"บิ๊กตู่"ขออปท.ใช้เงินภาษีรัฐอุดหนุนให้มีประสิทธิภาพ

05 มกราคม 2561

นายกฯขอให้องค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแนะประชาชนรวมเป็นพลเมืองดีช่วยกันตรวจสอบทุจริต

นายกฯขอให้องค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแนะประชาชนรวมเป็นพลเมืองดีช่วยกันตรวจสอบทุจริต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ว่า เรื่องสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจ คือบทบาทของขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการใช้จ่ายงบประมาณของอปท.ซึ่งในแต่ละปี งบประมาณของอปท.จะประกอบด้วย

1.รายได้ที่อปท.จัดเก็บได้เอง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น และ2.เงินภาษีที่รัฐจัดสรรให้และเงินอุดหนุนเพิ่มเติม เพื่อให้อปท.ใช้บริหารจัดการและดำเนินการโครงการต่างๆ ตามความต้องการของชุมชนได้อย่างเหมาะสม แต่การกำหนดพื้นที่ที่มีปัญหาในวันนี้ คือเรื่ององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเทศบาลที่มีปัญหาอยู่ ทำให้เกิดปัญหาการจัดเก็บรายได้ด้วยถ้าคนน้อยเกินไปหรือพื้นที่น้อยเกินไปก็เก็บเงินได้น้อย ทำให้รัฐบาลต้องแบ่งเงินลงไปมันก็ไม่พอใช้อยู่ดี จึงต้องไปช่วยกันแก้ไข ซึ่งขอให้ไปคิดเอาแล้วกัน

ในปีงบประมาณ 2561 รายได้ทั้งหมดของอปท.อยู่ที่ 720,000 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 30 ของงบประมาณทั้งหมด นอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรลงสู่ท้องถิ่นโดยตรงแล้ว รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณไปสู่กระทรวงต่างๆ ในการใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโครงการในภาพรวมของประเทศด้วย ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ย่อมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานเหล่านี้ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ การดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศ การก่อสร้าง พัฒนา หรือซ่อมแซมทางหลวงสายหลักที่เชื่อมจังหวัดหรือภูมิภาค เป็นต้น สำหรับการใช้งบประมาณของอปท. สามารถทำได้ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบอุดหนุนเฉพาะกิจที่จะต้องระบุโครงการชัดเจน หากมีเงินเหลือ ต้องถูกนำส่งคืนคลัง

ส่วนเงินที่เหลือจ่ายจากงบประมาณที่อปท.ได้รับไว้ภายในวันสิ้นปีงบประมาณของทุกปี จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ร้อยละ 25 เก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองเงินสะสม และ 2.ร้อยละ 75 เป็นเงินสะสมให้อปท.มีฐานะการเงินการคลังที่มั่นคง พร้อมรับภาระและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในอนาคต หรือนำไปจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ได้แก่ การบริการชุมชนและสังคม กิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของ อปท. กิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน หรือเป็นไปตามแผนพัฒนาอปท. หรือตามที่กฎหมายกำหนด เงินสะสมก้อนนี้สามารถถูกนำไปใช้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ โดยส่วนหนึ่งถูกกันไว้เพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เงินรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายให้กับประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเงินเบี้ยความพิการ หรือในกรณีเกิดสาธารณภัย เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมีการนำเงินสะสมออกไปใช้ในโครงการต่างๆ อปท.จะต้องรายงานให้จังหวัดทราบ ซึ่งจังหวัดจะติดตามและรายงานผลการใช้เงินผ่านทางระบบสารสนเทศเพื่อการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อี-แพลน) มาสู่ส่วนกลางเพื่อให้ตรวจสอบได้ด้วย

“วิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่นแบบนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกลไกประชารัฐในแต่ละชุมชน–ท้องถิ่น – จังหวัด – ภูมิภาค – ประเทศ “ในภาพรวม เชื่อมโยงกัน อย่าขัดแย้งกันเลย ต้องรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เอาเสียงส่วนใหญ่ว่าต้องการอะไร ต้องยอมกันบ้าง แล้ววันหน้าสิ่งที่ส่วนน้อยเสนอมาอาจทำไม่ได้ในระยะแรกก็ไปทำระยะ 2 หรือ 3 ต้องใช้กติกาตัวนี้ มิฉะนั้นทำไม่ได้สักอันไปเกลี่ยเงินมากๆ บางทีไม่ได้อะไรขึ้นมาไม่เพิ่มมูลค่าขึ้น ก็ลำบาก ฉะนั้นผมเน้นคำว่าในภาพรวมโดยการใช้งบประมาณต้องมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่นอกจากความร่วมมือในด้านการพัฒนาแล้ว ทุกคนยังมีหน้าที่พลเมืองในการสอดส่องและป้องกันการทุจริตด้วย”นายกฯ กล่าว.