posttoday

วุฒิฯเตรียมตั้ง11กมธ.ร่วมถกร่างกสทช.

03 ตุลาคม 2553

วุฒิสภาเตรียมตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คนพิจารณาร่างกฎหมายกสทช. เชื่อแนวโน้มผ่านร่าง พ.ร.บ. เสร็จทันสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินี้ แนะจับตาประเด็นปัญหาโครงสร้างกรรมการ กสทช.

วุฒิสภาเตรียมตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คนพิจารณาร่างกฎหมายกสทช. เชื่อแนวโน้มผ่านร่าง พ.ร.บ. เสร็จทันสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินี้ แนะจับตาประเด็นปัญหาโครงสร้างกรรมการ กสทช.

นายนิคม  ไวยรัชพานิชย์ รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาเปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาได้พิจารณาจัดเตรียมวุฒิสมาชิกที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการร่วมแล้ว 11 ราย  โดยจะมีการแต่งตั้งในที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่  4 ต.ค. นี้

"ในจำนวนกรรมาธิการร่วมส่วนของวุฒิสภา 11 คนนี้จะมีนายประสิทธิ  โพธสุธน สว.สุพรรณบุรี  ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ด้วย  และคาดว่าในส่วนของวุฒิสภาจะสนับสนุนให้นายประสิทธิเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่วมชุดนี้"นายนิคมกล่าว

นายนิคมกล่าวอีกว่า  โดยภาพรวมแล้วเชื่อว่าการพิจารณาประเด็นที่เห็นต่างกันในชั้นกรรมาธิการร่วมนั้น  น่าจะหาข้อยุติกันได้ในที่สุด  เว้นแต่ประเด็นที่จะให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นฝ่ายธุรการในการสรรหา กสทช. เราคงไม่เห็นด้วย  เห็นว่าควรจะให้สำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ดังกล่าวมากกว่า

ด้านนายสมชาย  แสวงการ สว.สรรหา กล่าวว่าประเด็นที่น่าจับตาสำหรับการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วม  น่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างของคณะกรรมาการ กสทช. ซึ่งในร่างของสภาผู้แทน ฯ เสนอจำนวนไว้ที่ 11 คน  แต่เสียงข้างมากของวุฒิสภาเห็นว่าควรจะเป็น 15 คน  โดยการเพิ่มสัดส่วนของฝ่ายความมั่นคง  ฝ่ายผู้มีประสบการณืด้านศาสนาและการพัฒนาสังคม  ซึ่งในส่วนนี้วุฒิสภาเองก็มีเสียงแตกต่างกันสองทาง  เสียงส่วนน้อยเห็นตามสภาผู้แทน ฯ ว่าควรจะมีจำนวนเพียง 11 คนเท่านั้น  เนื่องจากหากเพิ่มสัดส่วนตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ก็จะเกิดคำถามข้อเรียกร้องขององค์กรอื่นตามมา  ว่าทำไมไม่เพิ่มในสัดส่วนของพวกเขาด้วย

“สิ่งสำคัญควรจะมีการกำหนดในกฎหมาย  ด้วยการกำหนดคลื่นความมั่นคงโดยเฉพาะไม่ให้เอาไปจัดสรรด้วย  เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคง  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะความมั่นคงทางทหารเท่านั้น  แต่รวมถึงความมั่นคงด้านอื่น ๆ เช่นกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างการเตือนภัย  หรือการช่วยเหลือกรณีเกิดสึนามิเป็นต้น”  นายสมชายกล่าว

สำหรับประเด็นการโหวตประธานคณะกรรมาธิการร่วมนั้น  นายสมชายกล่าวว่าขณะนี้จะพูดได้ยากว่าเสียงโหวตระหว่างนายสาทิตย์  วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายก ฯ กับนายประสิทธิ์  โพธสุธน ประธานกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ ฯ ของวุฒิสภา  ซึ่งต่างก็เป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการร่าง พรบ.ฉบับนี้ในแต่ละสภานั้น  ใครจะมีเสียงสนับสนุนมากกว่า  เพราะมีความเป็นไปได้ที่ ส.ส. ฝ่ายค้านส่วนหนึ่งจะมาโหวตให้กับทางวุฒิสภา  และวุฒิสมาชิกที่เป็นกรรมาธิการส่วนหนึ่งไปโหวตให้ฝ่ายรัฐบาล  แต่เชื่อว่าเรื่องตำแหน่งประธานไม่น่าจะมีผลมากนัก  อยู่ที่เนื้อหาแต่ละประเด็นที่จะถกกันมากกว่า

อย่างไรก็ตามนายสมชายระบุว่า  ตนเชื่อว่าจะยังไงก็ตาม  ประเด็นที่มีการถกเถียงจริง ๆ น่าจะไม่เกิน 4 ประเด็นหลักเท่านั้น  คือเรื่องโครงสร้างจำนวน  เรื่องสัดส่วนของ กสทช.  เรื่องการส่งรายได้เข้ารัฐของรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสาร  ระหว่างร่างสภาผู้แทน ฯ ที่ให้ส่งหลังร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ปี  กับร่างแก้ไขของวุฒิสภา ที่ให้เวลาเตรียมปรับตัว 3 ปี  และประเด็นสุดท้าย  เรื่องสำนักงานฝ่ายเลขานุการณืในการสรรหา ซึ่งสำนักงานวุฒิสภาก็ไม่อยากทำหน้าที่  ขณะที่สภาผู้แทน ฯ เกรงว่าสำนักงาน กสทช. อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน  เถียงกันไปมาอาจจะกลับไปลงที่สำนักปลัดสำนักนายก ฯ ที่ทำหน้าที่สรรหา กสช. และ กทช. มาแล้วก็ได้ 

“ยังไงเสียผมยังเชื่อว่าร่างนี้คงจะเสร็จทันมีผลบังคับใช้ก่อนปืดสมัยประชุมนิติบัญญัตในเดือน พ.ย.นี้แน่นอน  เพียงแต่อยากให้จับตาระหว่างว่าจะมีใครพยายามที่จะเตะถ่วงหาเหตุเสนอแก้ไขให้มากกว่าประเด้ฯที่ถกเถียงกันเพื่อลากเวลายาวออกไปหรือไม่“  นายสมชายกล่าว

สำหรับกรรมาธิการร่วมในสัดส่วนของวุฒิสภาที่เตรียมเสนอชื่อในวันที่ 4 ต.ค.นี้นั้น  จะมีสัดส่วนกรรมาธิการวุฒิฯ ในกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ของนายประสิทธิ์รวม 8 คน  นอกนั้นก็มี สว. ที่เป็นที่รู้จักหลายคน  อาทิ นส.รสนา  โตสิตระกูล สว. กทม.  นายสมชาย  แสวงการ สว. สรรหา จากกลุ่ม 40 สว.  นายศิริวัฒน์  ไกรสินธุ์ สว.นครศรีธรรมราช  นายสิงห์ชัย  ทุ่งทอง สว.อุทัยธานี เป็นต้น