posttoday

กรธ.ชงร่างกม.สว. เปิดทางเลือกไขว้ 20 กลุ่มสร้างความหลากหลาย

29 พฤศจิกายน 2560

กรธ.เสนอร่างกฎหมาย สว. เปิดทางเลือกไขว้ 20 กลุ่มสร้างความหลากหลาย แต่ปีแรกมาจากอำนาจคสช.

กรธ.เสนอร่างกฎหมาย สว. เปิดทางเลือกไขว้ 20 กลุ่มสร้างความหลากหลาย แต่ปีแรกมาจากอำนาจคสช.

วันที่ 29 พ.ย. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ในวาระที่ 1 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ โดยมีทั้งสิ้น 92 มาตรา ดังนี้มีสาระสำคัญต่อไปนี้

มาตรา 11 ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสว.จำนวน 200 คนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกันหรือทำงานด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่มเป็นจำนวน 20 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

3.กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหาร สถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

4.กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม ข้อ 9

11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

14.กลุ่มสตรี

15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

20.กลุ่มอื่น ๆ

สำหรับการเลือกกันของผู้สมัครสว.นั้นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯกำหนดให้มีการเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศตามลำดับ

โดยในส่วนของการเลือกระดับประเทศ มาตรา 42 ได้บัญญัติสาระสำคัญเอาไว้ดังนี้

1.ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้

2.ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ 40 คนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

3.ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองไม่ได้

4.เมื่อดำเนินการเลือกแล้ว ให้ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศดำเนินการให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรายงานแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ถ้ากกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มตั้งแต่ลำดับที่ 1- 10 เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสว.จากกลุ่มนั้นๆ และให้ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 11- 15 ของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบ

อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกให้วุฒิสภาประกอบด้วยจำนวนสว. 250 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งมาจากการสรรหาและการแต่งตั้งภายใต้วิธีการดังนี้

1.ให้มีคณะกรรมการสรรหาสว.ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9-12 คนและดำเนินการสรรหาบุคคลด้วยวิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศตามลำดับให้ได้ 200 คนและส่งให้คสช.เลือกเป็นสว.จำนวน 50 คน

2.ให้คณะกรรมการสรรหาสว.เลือกบุคคลที่มีความรู้และความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน และส่งให้คสช.เลือกเป็นสว.จำนวน 194 คน

3.ส่วนสว.มี 6 คนจะมาจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ