posttoday

เปิดร่างกฎหมายเลือกตั้งสส.

29 พฤศจิกายน 2560

สนช.เตรียมถกร่างกม.เลือกตั้งสส. คุมเข้มทุจริตตัดสิทธิ 20 ปีและยุบพรรคหากพบหัวหน้าหรือกรรมการรู้เห็นเป็นใจ เปิดทางให้กกต.เลื่อนวันเลือกตั้งเองได้

สนช.เตรียมถกร่างกม.เลือกตั้งสส. คุมเข้มทุจริตตัดสิทธิ 20 ปีและยุบพรรคหากพบหัวหน้าหรือกรรมการรู้เห็นเป็นใจ เปิดทางให้กกต.เลื่อนวันเลือกตั้งเองได้

วันที่ 30 พ.ย.การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส. ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ โดยมีทั้งสิ้น 8 หมวด รวม178 มาตรา มีสาระสำคัญดังนี้

การกำหนดวันเลือกตั้งสส.ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา จากนั้นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตามมาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ ให้กกต.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้ 1.กำหนดวันเลือกตั้ง 2.กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเริ่มรับสมัครไม่เกิน 25 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ 3.จำนวนสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี 4.กำหนดสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ

มาตรา 15 กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจเลี่ยงได้เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่กกต.ประกาศกำหนด และกกต.มีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3ว่าการดำเนินการเลือกตั้งต่อไปตามกำหนดวันเดิมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย กกต.จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลง

ส่วนการจัดการเลือกตั้ง มาตรา 26 บัญญัติให้กกต.ดำเนินการกำหนดจำนวนสส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งตามวิธีการต่อไปนี้

1.ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสส. 350 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสส.1คน

2.จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสส.1คนตามข้อ1 ให้มีสส.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

3.จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสส. 1 คน ให้มีสส.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก1คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน

4.เมื่อได้จำนวนสส.ของแต่ละจังหวัดตามข้อ 2 และ 3 แล้ว ถ้าจำนวนสส.ยังไม่ครบ 350 คน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามข้อ 3 มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสส.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่มสส.ตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวน 350 คน

5.จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสส.ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสส.ที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน

ขณะที่ การหาเสียงของผู้สมัครสส.และพรรคการเมืองได้มีการกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้ เช่น มาตรา 71 ห้ามโฆษณาหาเสียงทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่กกต.กำหนด มาตรา 72 การหาเสียงสามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามที่กกต.กำหนด แต่ห้ามไม่ให้ผู้ใดหาเสียงภายใน 3 วันก่อนวันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ มาตรา 75 กำหนดห้ามไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสส.ด้วยวิธีไม่ว่าจะเป็นให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

สำหรับบทบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 129 ว่าด้วยการคำนวณหาจำนวนสส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยมีลำดับดังนี้

1.นำคะแนนจากรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนสส.ทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

2.นำผลลัพธ์ตามข้อ 1 ไปหารจำนวนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค โดยจำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสส.ที่พรรคการเมืองนั้นพึงมีได้เบื้องต้น

3.นำจำนวนสส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตามข้อ 2 ลบด้วยจำนวนสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์ คือ จำนวนสส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้เบื้องต้น

4.ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือจำนวนสูงกว่าจำนวนสส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ ให้พรรคการเมืองนั้นมีสส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสส.แบบบัญชีรายชื่อ

ด้านบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดบทลงโทษเอาไว้เข้มข้น โดยเฉพาะมาตรา 159 ที่กำหนดให้ผู้ใดที่ฝ่าฝืนมาตรา 75ว่าด้วยการห้ามไม่ให้ประโยชน์ชักจูงใจแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

ทั้งนี้ ในกรณีที่พรรคการเมืองเป็นกระทำผิดตามมาตรา 76 ว่าด้วยการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัครสส.และทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยที่หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดต้องระวางโทษดังกล่าวด้วย และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง และให้ถือเป็นเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง