posttoday

"บิ๊กตู่"ขอคนไทยอย่าโพสต์คำพูดทำร้ายจิตใจกัน

24 พฤศจิกายน 2560

นายกฯวอนโลกโซเชียลเขียนคำสุภาพหยุดสร้างชนวนรุนแรง ในโอกาส เดือนแห่งการยุติความรุนแรง แนะสถานประกอบการตั้งตู้ร้องเรียนละเมิดสิทธิ

นายกฯวอนโลกโซเชียลเขียนคำสุภาพหยุดสร้างชนวนรุนแรง ในโอกาส เดือนแห่งการยุติความรุนแรง แนะสถานประกอบการตั้งตู้ร้องเรียนละเมิดสิทธิ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่ง “การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ซึ่งเราทุกคนรู้ดีว่า “ครอบครัว หรือบ้าน” เป็นสถาบันที่เล็กที่สุดของสังคม แต่มีความสำคัญที่สุด เอาบ้านก่อน ครอบครัว แล้วถึงไปโรงเรียน แล้วค่อยไปสังคม ประเทศชาติต่อไปสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ก็คือครอบครัว อันเป็น “1 ใน 3 ประสาน” ของหลักการ “บวร” ตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9

ทั้งนี้ นอกจาก “อวัจนภาษา” เช่น การกอด หอม แสดงความรักต่างๆ แล้ว “วัจนภาษา” หรือคำพูดดีๆ สำหรับคนในครอบครัว เช่น เหนื่อยไหม – รักนะ – มีอะไรให้ช่วยไหม – เก่ง ดีเยี่ยม – พ่อ-แม่ลูก-สามี-ภรรยา ญาติพี่น้อง ใช้ได้ทั้งหมดนะครับ ขอบคุณนะ – ขอโทษนะ เป็นต้น อย่าใช้อารมณ์ใส่กัน ล้วนช่วยสร้างกำลังใจ และเป็นพลังให้กับทุกคนในครอบครัว นะครับ รับฟังซึ่งกันและกัน อย่าใช้อารมณ์

ส่วนคำพูดที่ไม่ดี ที่ทำลายจิตใจ ทำลายขวัญ ทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่กับเด็ก บางครั้งก็ต้องฟังเด็กบ้าง ตอนนี้โลกมันเปลี่ยน แปลงไปแล้ว เราอาจจะเป็นคนที่เกิดในรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ลูกหลานก็โตในยุคที่มีดิจิตอล มีเทคโนโลยีที่มันเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้บางครั้งเราต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ลูกก็ต้องเข้าใจพ่อแม่ ไม่อยากนำมากล่าว ณ ที่นี้ ควรลด – ละ – เลิกเสีย เพราะนอกจากจะเป็น จุดเริ่มต้นของ “การใช้อารมณ์ เหนือเหตุผล”แล้ว ยังนำไปสู่การใช้กำลังกับคนในบ้าน ลุกลามไปสู่การใช้ความรุนแรงในสังคม – ตามท้องถนน ปัญหาอีกเรื่องนึงก็คือการใช้กำลัง ในเรื่องของการคุกคามทางเพศเหล่านี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เสมอนะครับ ถึงแม้จะเปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ แต่มันก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น มันต้องเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าทุกคนช่วยกันดูแล ถ้าทุกคนมีสติ มีจิตสำนึก และการตัดสินปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง ประทุษร้ายกัน เช่นบนท้องถนน ขับรถอะไรต่างๆเหล่านี้ก็มีให้เห็นอยู่เสมอ ก็อย่าให้เกิดขึ้นอีกนะครับ

สำหรับการใช้ความรุนแรง ทางกาย – วาจา – ใจ เช่น การกักขัง ข่มขืน ข่มขู่ ด่าทอ ทุบตี ทำอนาจาร ฯลฯ เหล่านี้มันเกิดขึ้นมาในสังคมทุกวัน เราเห็นอยู่แล้ว ก็ต้องไปดูในโซเซียลมีเดีย การที่นำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรง หรือว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่น่าจะแพร่กันต่อมา คำหยาบคาย เว็บที่มันส่อให้เห็นในเรื่องของการหมกมุ่นทางเพศ อะไรเหล่านี้ ต้องแก้ไขทั้งหมด

"ใครจะแก้ล่ะครับ ผมก็ไม่สามารถจะไปตามได้ทั้งหมด เพราะมันมีจำนวนเยอะมาก เพราะทุกคนเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี การใช้ดิจิตอลจำนวนมากนะครับ ประเทศไทยถือเป็นอันดับแรกๆในอาเซียนด้วยนะครับ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชีวิต ของประเทศชาติ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนต้องพิทักษ์ไว้ ต้องไม่ละเมิดผู้อื้น การที่เราจะเขียนในโซเซียลมีเดีย หรือไปให้ร้ายใครโดยที่เราไม่มีข้อเท็จจริง อันนั้นก็ละเมิดสิทธิผู้อื่น อย่ามองว่าจ้องแต่รัฐบาลจะไปละเมิดสิทธิของท่าน ถ้าท่านไม่ละเมิดกันเอง รัฐบาลจะไปทำอะไรได้ รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลกฎหมาย ไม่มีการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองด้วย

ทั้งนี้ หมายรวมถึงการละเมิดสิทธิสตรี ซึ่งขัดแย้งกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG 2030) เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการเสริมพลังสตรี รวมทั้งหลักการ “การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน” ขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับลูกจ้าง – แรงงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม ประกอบด้วย “ 3 เสาหลัก” คือ การคุ้มครอง – การเคารพ – การเยียวยา อาทิ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU ซึ่งรัฐบาลนี้ถือเป็น “วาระแห่งชาติ”

การไม่ดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่หลายฉบับ อย่าไปมองเฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียวโดยรัฐบาลนี้ เปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เช่น ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ (สายด่วน 1567) ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะรับเรื่องร้องเรียน และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบได้

นอกจากนี้ เห็นว่าบริษัท หรือผู้ประกอบการเอง ก็ควรจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ในสถานประกอบการของตน เพื่อขจัดและแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาผลกระทบ ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ก่อนที่จะบานปลาย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าหากสามารถยุติการใช้ความรุนแรงได้ ตั้งแต่ที่บ้าน ก็จะเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับสังคมของเราโดยรวม ยิ่งกว่านั้น หากสังคมไทยสามารถรักษาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามที่กล่าวมานั้น ควบคู่กับวางรากฐานการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลแล้ว ก็จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลนี้ ด้วย