posttoday

สนช.มติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ

23 พฤศจิกายน 2560

สนช.เห็นชอบวาระ 3 ร่างพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญต่ออายุ 5 ตุลาการจนกว่าจะมีประชุมสภานัดแรก

สนช.เห็นชอบวาระ 3 ร่างพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญต่ออายุ 5 ตุลาการจนกว่าจะมีประชุมสภานัดแรก

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 188 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เห็นชอบในวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะส่งต่อให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง  ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) พิจารณา

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญซึ่งที่ประชุมให้ความสนใจอภิปรายกันเป็นพิเศษคือบทเฉพาะกาลมาตรา 76 เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกมธ.วิสามัญพิจารณา ปรับแก้จากร่างเดิมให้ 4 คนยังไม่ครบวาระสามารถดำรงตำแหน่งต่อไป โดยไม่ต้องนำคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ขณะที่ 5 คน ที่พ้นตำแหน่งแล้ว อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นั้น ให้มีการสรรหาใหม่

ด้าน นายสมชาย แสวงการ สนช. ขอแปรญัตติเห็นว่าควรให้ตุลาการ 5 คนที่อยู่ตามคำสั่งคสช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อให้มี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน ร่วมกระบวนรการสรรหาให้ครบสมบูรณ์เพื่อความสง่างามทำให้นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ในมาตรา 77 กมธ.เสียงข้างมากได้เขียนระยะเวลาการสรรหาตุลาการใหม่ 5 คน กำหนด 200 วัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ใกล้เคียงกับระยะเวลาการเลือกตั้งใหม่ แต่หลังจากที่ฟังการอภิปรายของสมาชิกที่ต้องการให้ทั้ง 5 คนอยู่ไปจนถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น กมธ.เห็นด้วย

ขณะที่ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ กมธ.เสียงข้างน้อย และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  กล่าวว่า หากจะพูดเรื่องสง่างามนั้น เห็นว่าการเลือกใหม่เหมือนเป็นเหล้าใหม่ในขวดใหม่นั้นจะมีความสง่างามกว่า การอยู่จนแบบไม่มีที่สิ้นสุด บางคนปฏิบัติหน้าที่ครบ 9 ปีแล้ว จะให้ปฏิบัติหน้าที่จนถึงปีที่ 11 ปีที่12 ปีที่13ต่อไป ความสง่างามจะไม่เกิดขึ้น 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสนใจอภิปรายในมาตรา 69/1 และ 77/1  ซึ่งสุดท้ายหลังการพักการประชุมเพื่อไปหารือนอกรอบ ได้เห็นควรให้ตัดนื้อหามาตรา 69/1 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 71/1 วรรคสองและวรรคสาม ไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนตรวจสอบข้อกำหนดและมาตรการชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญ