posttoday

อสส.แถลงยื่นศาลฎีกาฯรื้อ 2 คดี"ทักษิณ"

21 พฤศจิกายน 2560

อัยการยื่นคำร้องศาลฎีกาฯนักการเมืองให้พิจารณาคดีลับหลังโดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหาตามกม.ใหม่ ระบุมี 2 คดีดังปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย-แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

อัยการยื่นคำร้องศาลฎีกาฯนักการเมืองให้พิจารณาคดีลับหลังโดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหาตามกม.ใหม่ ระบุมี 2 คดีดังปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย-แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้า นายทักษิณ จำเลย ตามกฎหมายใหม่

นายวันชาติ กล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุด มีมติรื้อ 2 คดีทักษิณ คือ คดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต หมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 คดีระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลย ข้อหา เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
 
และคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษฎามหานคร หมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 คดีระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 27 คน จำเลย ข้อหา เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ เป็นกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประชาชน และเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดการทรัพย์ร่มกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่มกันและสนับสนุน เจ้าพนักงาน พนักงานในองค์การของรัฐกระทำผิดดังกล่าว ยักยอกทรัพย์ และเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนรับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สิน กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น
 
นายวันชาติ กล่าวว่า คณะทำงานร่วมกันประชุมพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าทั้งสองคดีดังกล่าวมีลักษณะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 จึงเสนออัยการสูงสุดให้มีคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย
              
“อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นพ้องตามที่คณะกรรมการเสนอ และมอบอำนาจให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ   ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเรียบร้อยแล้วในวันนี้” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว
              
อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุด ขอชี้แจงว่าการยื่นคำร้องต่อศาลทั้งสองคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง พ.ศ.2560 โดยคดีทั้งสองอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนายทักษิณ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2551 และปี 2555 ตามลำดับ และศาลได้ประทับรับฟ้องคดีทั้งสองไว้แล้ว เพียงแต่ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของนายทักษิณ ต่อไปได้ เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่ต่อหน้าศาล เมื่อมีกฎหมายใหม่จึงจำต้องยื่นคำร้องในครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามบทกฎหมาย

นายประยุทธ กล่าวว่า ขั้นตอนการพิจารณาคดีหลังจากนี้เป็นอำนาจของศาลฎีกาฯจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งระหว่างนี้ทางนายทักษิณ สามารถตั้งทนายความขึ้นมาต่อสู้คดีได้ ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดี ซึ่งคดีกรุงไทยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เป็นคนส่งสำนวนมาให้

นายธรัมพ์ กล่าวว่า สำหรับการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ยังไม่ทราบที่อยู่ชัดเจน จึงไม่สามารถตอบรายละเอียดได้