posttoday

กรธ.-กกต.แจงวิธีคำนวนหาสส. รับโอกาสพรรคเดียวได้เกินครึ่งเกิดยาก

17 พฤศจิกายน 2560

กรธ.-กกต.แจงวิธีคำนวนหาสส. ยอมรับ โอกาสพรรคเดียวได้เกินครึ่งเกิดยาก ชี้ หนึ่งเขตเลือกตั้งจะมีผู้มีสิทธิออกเสียง 1.8 แสนคน ระบุ สส.บัญชีรายชื่อลำดับท้ายมีสิทธิตกเก้าอี้หากเกิดเลือกซ่อม

กรธ.-กกต.แจงวิธีคำนวนหาสส. ยอมรับ โอกาสพรรคเดียวได้เกินครึ่งเกิดยาก ชี้ หนึ่งเขตเลือกตั้งจะมีผู้มีสิทธิออกเสียง 1.8 แสนคน ระบุ สส.บัญชีรายชื่อลำดับท้ายมีสิทธิตกเก้าอี้หากเกิดเลือกซ่อม

เมื่อเวลา 11.30น.วันที่ 17 พ.ย. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนางสมิหรา เหล็กพรหม รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 และ นางสาวสง่า ทาทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.ในส่วนของหลักการคำนวณวิธีคิดค่าเฉลี่ยนของสส.บัญชีรายชื่อ

นางสมิหรา กล่าวว่า ในหลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีสส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็น 1.สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และ 2.สส.บัญชีรายชื่อ 150 คน โดยจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม คือ ใช้บัตรเลือกตั้งแบบเบ่งเขตเลือกตั้งเพียงหนึ่งใบเท่านั้น สำหรับหลักเกณฑ์การคิดคำนวณสส.บัญชีรายชื่้อจะมีด้วยกันสองรูปแบบแล้วแต่กรณี ได้แก่ 1.กรณีกกต.ประกาศผลการเลือกตั้งสส.ครบ 350 เขต และ 2.กรณีกกต.ประกาศผลไม่น้อยกว่า 95 %

นางสมิหรา กล่าวว่า สำหรับกรณีกกต.ประกาศผลการเลือกตั้งครบ 350 เขต จะมีวิธีการคำนวณหาสส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ดังนี้ 1.นำคะแนนเฉพาะของพรรคที่ส่งแบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นมาใช้ในการคำนวณ พรรคใดที่ไม่ส่งสส.ระบบบัญชีรายชื่อจะไม่นำมาคำนวนหาคะแนนสส.ระบบบัญชีรายชื่อ 2.นำผลรวมคะแนนของทุกพรรคการเมืองมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนสส.ทั้งหมดเพื่อให้ค่าเฉลี่ยนต่อสส.1คน 3.จะเป็นการหาจำนวนสส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี โดยนำค่าเฉลี่ยต่อสส.1คน ไปหารคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะทำให้ได้จำนวนสส.ที่แต่ละพรรคจะได้ ทั้งนี้ หากพรรคได้สส.แบบแบ่งเขตน้อยกว่าจำนวนสส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ ให้จัดสรรสส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมให้ตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ แต่หากพรรคการเมืองได้สส.แบบแบ่งเขตมากกว่าหรือเท่ากับจำนวนสส.ที่จะพึงมีได้ ก็ไม่ต้องจัดสรรสส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองนั้น

นางสมิหรา กล่าวว่า ยกตัวอย่าง คะแนนรวมทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 29,571,126 คะแนน นำตัวเลข500มาหารจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อสส.1 คนจำนวน 59,142 คะแนน จากนั้นจะเป็นหาจำนวนสส.ที่พึงมีของพรรคการเมืองนั้น สมมติพรรค ก.ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 13,132,563 คะแนน ก็นำตัวเลข 59,142 คะแนนมาหาร พอหารออกมาได้จำนวน 222.0504 ซึ่งเป็นจำนวนสส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี ในกรณีที่คำนวนออกมาแล้วมีเศษเกินจะต้องนำเศษเกินออกมาก่อนเพื่อคิดเฉพาะจำนวนเต็ม คือ 222 ที่นั่ง ถ้าพรรค ก.ได้สส.แบบแบ่งเขต 187 คน ก็จะได้สส.ระบบบัญชีรายชื่ออีก 35 คน ครบจำนวน 222 คน โดยจะคำนวนในลักษณะนี้เหมือนกันทุกพรรคสำหรับเศษเกินที่นำออกมานั้นจะนำมาจัดลำดับเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองเพื่อหาคำนวณหาจำนวนสส.ต่อไป

"สำหรับกรณีที่มีจำนวนที่นั่งสส.ระบบแบ่งเขตมากกว่าจำนวนสส.ที่จะพึงมีได้ หรือ โอเวอร์แฮงค์ จะต้องมีการปรับลดจำนวนที่นั่ง โดยใช้พื้นฐานการคำนวนเหมือนเดิม เช่น พรรค ค.ได้จำนวนสส.ที่พึงมี 4 คน แต่ได้สส.ระบบแบ่งเขตจำนวน 5 คน มีโอเวอร์แฮงค์จำนวน 1 คน ซึ่งในกรณีเช่นนี้รัฐธรรมนูญกำหนดเมื่อได้สส.แบบแบ่งเขตเท่าไหรก็ได้เท่านั้น แต่จะไม่ได้สส.ระบบบัญชีรายชื่อ" นางสมิหรา กล่าว

ขณะที่ กรณีกกต.ประกาศผลไม่น้อยกว่า 95 % นางสมิหรา กล่าวว่า เป็นกรณีที่ยังไม่สามาถประกาศผลการเลือกตั้งได้ทั้งหมด รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องประกาศให้ได้ 95% จากจำนวนสส.ทั้งหมด 500 คน คือ 475 คน แบ่งเป็น สส.ระบบแบ่งเขต 333 คน และสส.ระบบบัญชีรายชื่อ 142 คน ถึงจะสมารถเปิดประชุมสภาได้ ทั้งนี้ วิธีการคำนวนจะเหมือนกรณีปกติ แต่จะคิดจากฐานของการรับรองผลการเลือกตั้งที่ 95 % เช่น คะแนนของทุกพรรคการเมืองทั้่งประเทศที่ 95% มีจำนวน 28,090,848 คะแนน จะนำคะแนนนี้มาหาร 475 จากนั้นจะได้ตัวเลข 59,138.6274 ซึ่งคะแนนเฉลี่ยต่อสส. 1 คน จากนั้นเป็นการหาจำนวนสส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี

ทั้งนี้ สมมติ พรรคก.ได้คะแนนรวม 12,168,900 คะแนน เมื่อนำ 59,138.6274 มาหาร ก็จะทำให้พรรค ก.ได้สส.ที่พึงมีจำนวน 206 คน หากพรรรค ก.ได้สส.แบ่งเขตไปแล้ว 171 คน ก็จได้สส.บัญชีรายชื่ออีก 35 คน รวมเป็น 206 คนตามจำนวนสส.ที่พรรคจะพึงมี โดยจะคำนวนในลักษณะนี้เหมือนกันทุกพรรค ส่วนในกรณีที่ประกาศคะแนน 95 % และเกิดมีที่นั่งสส.เกินหรือโอเวอร์แฮงค์ เช่น พรรค ค.ได้จำนวนสส.ที่พึงมี 4 คน แต่ได้สส.ระบบแบ่งเขตต 5 คน เกินมา 1 ที่นั่ง ในกรณีเช่นนี้รัฐธรรมนูญกำหนดเมื่อได้สส.แบบแบ่งเขตเท่าไหรก็ได้เท่านั้น แต่จะไม่ได้สส.ระบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อถามว่า การคำนวนคะแนนการเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้ที่นั่งสส.เกิน 50% หรือมากกว่า 250 คนใช่หรือไม่ นางสาวสง่า กล่าวว่า ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะในการนำคะแนนของสส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้คำนวนจำนวนสส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 1.8แสนคน ดังนั้น การที่จะมีพรรคการเมืองใดได้คะแนนโดดไปถึง 250 ที่นั่งก็คงเป็นเรื่องที่ยาก

เมื่อถามว่า การคำนวนคะแนนเลือกตั้งวิธีนี้จะทำให้เห็นโฉมหน้าของรัฐบาลประมาณกี่วันจากวันเลือกตั้ง นายนรชิต กล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าถ้ารับรองผลการเลือกตั้งได้เกิน 95% ก็จะสามารถเปิดประชุมสภาได้ แต่จะประชาชนจะทราบเมื่อไหรว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองใดนั้นส่วนตัวคิดว่าก็คงทราบได้เพียงแต่ว่าพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก ถ้าพรรคใดได้เสียงข้างมากก็คงเป็นรัฐบาลจากพรรคการเมืองนั้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่สามารถได้เสียงข้างมากก็คงทราบเพียงแต่ว่าพรรคใดได้เสียงมากหรือพรรคไหนเป็นเสียงข้างน้อย พรรคไหนได้เสียงข้างมากก็จะได้โอกาสตั้งรัฐบาลก่อนแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะร่วมกับพรรคการเมืองอย่างไร

เมื่อถามว่า หากเกิดกรณีที่มีสส.โดนใบแดงและต้องมีการเลือกตั้งซ่อมจะมีการคำนวนคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า เมื่อพ้น1ปีหลังจากการเลือกตั้งไปแล้วจะไม่มีการคำนวนคะแนนเพื่อคิดจำนวนสส.ใหม่แม้จะมีการเลือกตั้งซ่อม อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปีที่จะทำให้เกิดการคำนวนสส.ใหม่นั้นจะมีเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมที่มีสาเหตุจากการทุจริตเลือกตั้งเท่านั้น หากเป็นการเลือกตั้งซ่อมเพราะสส.คนเดิมตายหรือลาออก จะไม่มีการนำคะแนนมาหาจำนวนสส.บัญชีรายชื่อ 

“แต่ถ้าก่อน 1 ปีเกิดมีการเลือกตั้งซ่อมก็ต้องมีการคำนวนคะแนนใหม่ ใครอยู่อันดับท้ายของพรรคที่ต้องเสียก็ต้องหลุดจากตำแหน่งของสส. ใครที่อยู่ในพรรคที่ได้จำนวนที่นั่งเพิ่มก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นสส. อย่างไรก็ตาม สส.ที่ต้องจากตำแหน่งเพราะกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญกำหนดว่าสิทธิที่ได้มาก่อนที่จะพ้นตำแหน่งจะไม่ได้รับผลกระทบ เช่น เงินเดือนที่ได้มาก่อนก็ไม่ต้องมาคืน สิ่งที่ทำไปก็ชอบด้วยกฎหมาย” นายนรชิต กล่าว