posttoday

“เรืองไกร”ร้องศาลรธน.สั่งนายกฯปลดล็อคพรรค

10 พฤศจิกายน 2560

“เรืองไกร” ร้อง ศาล รธน. สั่งนายกฯปลดล็อคพรรคการเมือง ชี้ขัดรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้

“เรืองไกร” ร้อง ศาล รธน. สั่งนายกฯปลดล็อคพรรคการเมือง ชี้ขัดรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 พ.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นคำร้องใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 57 /2557  และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดขวาง ไม่ให้พรรคการเมือง นักการเมือง ดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560  ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา 45 และเป็นการกระทำตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า นับแต่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2560 และมีการกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แต่หัวหน้า คสช.กลับมีท่าทีที่จะยังไม่ต้องการให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ และมีการให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า หากพรรคการเมืองดำเนินการไม่ทันตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะขยายเวลาให้ โดยได้พิจารณาแล้วว่าไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

“ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพทางการเมือง บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 โดยให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายนั้นก็คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่คุ้มครองให้พรรคต้องทำกิจกรรมตามห้วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนด แต่หัวหน้า คสช. หรือท่านนายกฯ กลับมาบอกว่าตรงนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ ทำให้ต้องมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการกระทำต้องห้าม ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องมาร้องต่อศาล เพราะผมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถือเป็นผู้ที่รับผลกระทบโดยตรง เพราะการที่ไม่ปลดล็อก ถือว่าขัดต่อเสรีภาพของบุคคล จึงขอให้ศาลวินิจฉัยแล้วสั่งให้หัวหน้า คสช. หรือนายกรัฐมนตรี หยุดและเลิกกระทำนั้นเสีย แล้วให้พรรคการเมือง หรือคนที่ประสงค์จะตั้งพรรคการเมืองได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด” นายเรืองไกร กล่าว

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า การที่หัวหน้า คสช. อ้างว่า ประกาศ คสช.ที่ 57 /2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ได้นั้น ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 3 กำหนดไว้อยู่แล้วว่า หากกฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ กฎหมายอื่นใดที่ขัดหรือแย้งก็ให้สิ้นสภาพไป ดังนั้นจะต้องถือว่าทั้ง 2 คำสั่ง คือ คำสั่งที่ 57 ที่ออกโดย พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 2550 และคำสั่งที่ 3 เป็นคำสั่งที่ห้ามเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมาตรา 3 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง บัญญัติว่ากฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายนี้ให้สิ้นสภาพไป ดังนั้นคำสั่งที่ 57 ก็ไม่สามารถที่จะมาบังคับใช้ได้อีก ขณะเดียวกันคำสั่งที่ 3 ก็ไม่น่าจะมาใช้ได้ เพราะคำสั่งที่เป็นเรื่องการชุมนุม ไม่เกี่ยวกับการประชุมพรรคการเมือง อีกทั้งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ที่ 12/52 ที่เคยวินิจฉัยเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไว้ว่าในการประกอบกิจการที่ประกาศคณะปฎิวัติห้ามไว้ หากรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ ก็ให้ประกาศนั้นสิ้นสภาพไป

สำหรับคำวินิจฉัยที่นายเรืองไกรอ้าง เป็นกรณีที่ผู้ประกอบกิจการร้านข้าวต้ม ไอ-เฮีย ถูกจับกุม ฐานขายอาหารและเครื่องดื่มในเวลาห้าม ขัดประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 252 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2515 ซึ่งผู้ประกอบกิจการได้ร้องผ่านศาลยุติธรรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าประกาศฉบับดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 29 และ 43 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้หรือไม่