posttoday

อุเทนติงใช้ม.44โยกกรมทรัพยากรน้ำเท่ากับชักเย่อการใช้อำนาจ

31 ตุลาคม 2560

“อุเทน”ติงออกม.44โยก"กรมทรัพยากรน้ำ"แค่การชักเย่อการใช้อำนาจ แนะ“แบงค์ชาติ”ออกระบบจัดการบัญชีไม่เคลื่อนไหวดีกว่าชี้ราคายางไม่จบเพราะปล่อยเอกชนครอบงำกลไกราคา

“อุเทน”ติงออกม.44โยก"กรมทรัพยากรน้ำ"แค่การชักเย่อการใช้อำนาจ แนะ“แบงค์ชาติ”ออกระบบจัดการบัญชีไม่เคลื่อนไหวดีกว่าชี้ราคายางไม่จบเพราะปล่อยเอกชนครอบงำกลไกราคา

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ในการบูรณาการน้ำเบ็ดเสร็จว่า ถือเป็นอีกครั้งที่สะท้อนว่า คสช.ล้มเหลวในการใช้อำนาจที่อย่างล้นเหลือ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ก็เพิ่งใช้อำนาจมาตรา 44 โยก กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพียงไม่นานก็เปลี่ยนแปลงโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทั้งที่รัฐบาลคุยโวว่ามีการบริหารจัดการที่ดี ก็ยิ่งตอกย้ำว่าตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา คสช. และรัฐบาล ที่มีทั้งเวลาและอำนาจ ไม่สามารถใช้ปัจจัยที่ตัวเองมีอยู่ ในการแก้ไขปัญหาใดๆได้เลย อีกทั้งการตั้ง สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นมาใหม่ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความยุ่งยากในระบบราชการมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหากไม่กำหนดบทบาทให้ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการสั่งการในอนาคตได้ แทนที่จะย่นย่อระบบราชการให้มีความคล่องตัว เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ใช้บริการของปรมาจารย์นักกฎหมายที่ว่ากันว่าระดับมือพระกาฬ แต่กลับทำเรื่องที่ควรจะง่ายให้เป็นเรื่องยาก

“เป็นอีกครั้งที่ท่านนายกฯชักเย่อการใช้อำนาจ ออกคำสั่งแก้คำสั่งของตัวเอง คล้ายกับเป็นการลองผิดลองถูกไปเรื่อย ไม่ได้มีการวางแผน หรือมีการวางยุทธศาสตร์ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติหรือวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาแม้แต่น้อย” นายอุเทน ระบุ

นายอุเทน ยังได้กล่าวต่อถึงกรณีที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ. Dormant Account) ที่มีสาระสำคัญในการนำเงินในบัญชีที่ไม่มีธุรกรรมการเงินเป็นระยะเวลานานเข้าสู่ระบบเงินคงคลังว่า ถือว่าภาครัฐพยายามไปนำภาระของธนาคารและสถาบันการเงินมาอุ้มไว้ โดยไม่มีความาจำเป็น เนื่องจากตามระบบปกติเมื่อบัญชีที่ไม่มีธุรกรรมการเงินเป็นเวลา ธนาคารและสถาบันการเงินต้องมีภาระในการสำรองเงินส่วนนั้นๆ การที่ภาครัฐอ้างว่าเป็นแนวทางของนานาประเทศปฏิบัติกันเช่นนี้ ก็เพียงเพื่อใช้หลักที่ดูดีในการปกป้องผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน หรือผู้ประกอบการเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายให้เกิดความซับซ้อน เพียงแค่ให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกระเบียบ ธปท.กำกับให้ชัดเจนว่า บัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวเป็นระยะเวลาเท่าไร ทางธนาคารและสถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องสำรองเงินในส่วนนั้นไว้ ไม่ใช่การใช้โยกเข้าคลังที่จะมาเป็นภาระของภาครัฐ โดยอ้างว่าเป็นหลักสากล ที่ไม่จำเป็นต้องไปลอกเลียนมาทั้งหมด แต่ต้องรู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศเราด้วย เช่นเดียวกับสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปหวังพึ่งบริษัทผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของไทย ให้มาร่วมจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางขึ้น สุดท้ายราคายางก็ตกต่ำลงอีก เนื่องจากกลายเป็นว่าบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านั้น เข้ามาควบคุมกลไกราคาโดยคำนึงผลประโยชน์ของบริษัทมากกว่าผลประโยชน์องค์รวมของประเทศชาติ

“ที่ผ่านมาผมได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช.ด้วยความปรารถนาดีมาโดยตลอด ซึ่งท่านนายกฯอาจมองว่าเป็นเสียงนกเสียงกา แต่หากท่านเปิดใจรับฟังและนำไปประกอบการตัดสินใจในหลายเรื่อง ก็คงดีกว่าการที่ลองผิดลองถูกตามบริวารรอบข้างเช่นนี้ และหากท่านนายกฯคิดว่าข้อเสนอหรือข้อติติงของผมเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย และเปิดโอกาสให้ได้ไปนำเสนอหลักคิดต่างๆ ผมก็มีความยินดี” นายอุเทน กล่าว.