posttoday

อุเทนเตือนกรมชลฯ-กฟผ.อย่าปล่อยน้ำทิ้งจนไม่เหลือใช้หน้าแล้ง

20 ตุลาคม 2560

“อุเทน” ห่วงช่วงปลายฝน อาจมีพายุอีกลูกเข้ากทม.กระทบพื้นที่จัดงานพระราชพิธีแนะกทม.ประสานปภ.วางแผนระบายน้ำรอบสนามหลวง

“อุเทน” ห่วงช่วงปลายฝน อาจมีพายุอีกลูกเข้ากทม.กระทบพื้นที่จัดงานพระราชพิธีแนะกทม.ประสานปภ.วางแผนระบายน้ำรอบสนามหลวง

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเลทางฝั่งตะวันออก เมื่อวิกฤตมหาอุทกภัยปี 2554 กล่าวถึงประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องสภาพอากาศบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 19 ต.ค.ซึ่งระบุว่าจะส่งผลกระทบในช่วงวันที่ 21-26 ต.ค.นี้ ที่จะความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงปกคลุมไทยตอนบน ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิลดลง 2-5 องศาฯ ทำให้เกิดลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ว่า มีการคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 18-23 ต.ค. ประเทศไทยที่อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว อาจได้รับอิทธิพลจากพายุ "แลง" ที่กำลังก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้มีร่องมรสุมและความกดอากาศต่ำที่อาจส่งผลมาถึงพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดพายุฝนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ที่กำลังจะมีการจัดพระราชพิธีสำคัญในช่วงตลอดสัปดาห์หน้า จึงขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกันบูรณาการวางแผนรับมือสถานการณ์และปริมาณน้ำที่จะเข้ามาในพื้นที่ กทม.ทั้งจากฝนและจากการระบายน้ำทางตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันสถานที่สำคัญในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงต้องเตรียมแผนการแก้ปัญหาเผื่อไว้ เพื่อไม่สร้างความลำบากให้กับประชาชนที่จะหลั่งไหลมาในช่วงวันพระราชพิธีดังกล่าว

ทั้งนี้ กทม.ควรเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เข้ามาเสริมและตรวจสอบสภาพประตูต่างๆบริเวณประตูระบายน้ำในละแวกใกล้เคียง ทั้งที่บางลำภู คลองโอ่งอ่าง และคลองหลอด แถวปากคลองตลาด และควรพร่องน้ำเตรียมไว้ หากเกิดมีปัญหาจากฝนหรือน้ำหนุนเกิดขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมทำความสะอาดบริเวณปากบ่อพัก - ท่อระบายน้ำ และอีกหลายๆจุด รอบสนามหลวงที่กำลังก่อสร้าง อาจมีเศษดิน เศษทราย หรือวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคขวางทางน้ำได้

ส่วนของน้ำเหนือที่กำลังมีการวางแผนระบายออกสู่อ่าวไทยในเวลานี้ ก็อยากให้ กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยึดหลัก “หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไป” โดยหากคำนวณแล้วว่า เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำต่างๆยังรองรับน้ำได้ก็ควรที่จะเก็บเพิ่มไว้บ้าง ไม่ควรปล่อยระบายทิ้งเปล่าๆทั้งหมด เพื่อเหลือเก็บไว้ใช้ในยามหน้าแล้งที่จะมาถึง ส่วนน้ำที่ต้องระบายนั้น เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ กทม. ทางฝั่งตะวันตกก็ควรเลี่ยงระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำนครชัยศรี หรือแม่น้ำท่าจีน เพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำที่จะผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับทางฝั่งตะวันออก ที่สามารถระบายน้ำให้ไปทางคลองระพีพัฒน์ และคลอง 13 เพื่อผลักดันลงอ่าวไทย ผ่านลงคลองชายทะเล บริเวณถนนสุขุมวิทสายเก่า  จ. สมุทรปราการ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่พร้อม สามารถเร่งระบายน้ำให้ออกสู่อ่าวไทยได้อย่างสะดวกและเร็ว.