posttoday

“พิศิษฐ์” งง สนช.สกัดนั่ง ผู้ว่า สตง.ยันมีสิทธิ์ สมัครต่อ

20 ตุลาคม 2560

“พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ” งง สนช.สกัดนั่ง ผู้ว่า สตง.ยันมีสิทธิ์ สมัครต่อ ตามคำสั่งคสช.ที่ 71/2557 เผย ไม่ยื่นค้านกฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน ให้อำนาจ “นายกฯ”ชี้ขาด

 “พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ” งง สนช.สกัดนั่ง ผู้ว่า สตง.ยันมีสิทธิ์ สมัครต่อ ตามคำสั่งคสช.ที่ 71/2557  เผย ไม่ยื่นค้านกฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน ให้อำนาจ “นายกฯ”ชี้ขาด

เมื่อวันที่ 20 ตค. ที่รัฐสภา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีเนื้อหาให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)สอบเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกแบบให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล โดยยึดหลักการว่าองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการตรวจสอบก็จะถูกตรวจสอบได้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับสตง.ที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินก็ต้องถูกผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบด้วย การออกแบบของกรธ.ครั้งนี้กำหนดเพียงแค่เจ้าหน้าที่ในกรณีที่เมื่อตรวจเงินแผ่นดินแล้วพบว่ามีพยานหลักฐานเชื่อว่ามีการกระทำในทางมิชอบก็สามารถตรวจสอบต่อได้ แต่มีขั้นตอนว่าเมื่อรวบรวมหลักฐานเสร็จจะต้องส่งประธาน ป.ป.ช. ว่าพบเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่มีปัญหา เป็นวิธีการเดียวกับที่ป.ป.ช.ตรวจสอบคนอื่น ถือเป็นวิธีชั้นสูงกว่าการสอบสวนแล้วชี้มูลกล่าวโทษ จึงเห็นว่ามีลักษณะคุ้มครองมากกว่า

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่วิตกกังวลว่าจะไปล่วงล้ำในเรื่องของสำนวน ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.เป็นเจ้าพนักงานไต่สวน ไต่สวนคดีจะถูกรบกวนนั้น ตนเห็นว่าในเรื่องการตรวจสอบการเงิน ไม่มีเรื่องที่ต้องไปตรวจสอบสำนวน หรือรูปคดี แต่ก็เห็นใจเพราะเป็นเรื่องใหม่ อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องยอมรับเพราะทุกหน่วยงานต้องตรวจสอบถ่วงดุลเช่นนี้  เพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าปราศจากการตรวจสอบ แต่คนทำงานในป.ป.ช.ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลด้วย

เมื่อถามว่าร่างพ.ร.ป.ตรวจเงินฯกำหนดไว้ในบทเฉพาะการมาตรา 108 ว่าผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าสตง.ก่อนกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ให้ถือว่าเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าสตง.มาก่อน ส่งผลให้อดีตผู้ว่าสตง.จะมีปัญหาในการลงสมัครรับการสรรหาผู้ว่าสตง.ใหม่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายในปัจจุบันตนมีสิทธิลงสมัครรับการสรรหา โดยยึดตามคำสั่ง คสช.ที่71/2557 ซึ่งได้ดูอย่างรอบคอบแล้วว่าผู้สมัครเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและดำรงตำแหน่งแล้วยังสามารถสมัครได้อีก 1 วาระ อย่างน้อย 2 ปี คำสั่งนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้นตนจึงมีคุณสมบัติที่จะลงสมัครได้ โดยถือว่าไม่เคยดำรงตำแหน่งใดในองค์กรอิสระตามความหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก็ยอมรับ จึงไปกำหนดในบทเฉพาะการมาตรา 108 เพื่อสกัดกั้น

“การถือว่าเคยดำรงตำแหน่งตามกฎหมายอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ออกมามีผลบังคับใช้ แล้วให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ จะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมคงจะรับทราบและตรวจสอบได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และสังคมต้องตั้งคำถามด้วยว่าเขียนกฎหมายมาตรานี้ออกมาแล้วบ้านเมืองได้ประโยชน์อย่างไร”อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

เมื่อถามว่า เชื่อว่าการเขียนในมาตรา 108 เป็นการสกัดกั้นนายพิศิษฐ์ ใช่หรือไม่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่าพอจะเห็นได้อยู่ เพราะตอนนี้ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าสตง. แต่กลับเขียนย้อนไปว่าผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงพอทราบเจตนารมณ์อยู่ ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้ในทางวิชาการไม่เคยเกิดขึ้น แต่ตนก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องมาสกัดกั้นตน ตลอดการทำงานทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับการทำหน้าที่ โดยไม่คำนึงว่าจะกระทบกับใครเป็นการเฉพาะ คิดถึงแต่การดูแลเงินแผ่นดิน

“ในอดีตคนที่อภิปรายสนับสนุนมาตรานี้ เคยอภิปรายในสมัยที่เป็น ส.ว.สนับสุนนให้ผู้ว่าสตง.ท่านหนึ่งที่อายุพ้นเกณฑ์ไปแล้วให้มีสิทธิ์กลับมาสมัครใหม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า การที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนไม่ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ แต่ครั้งนี้กลับเขียนกลับกัน แสดงให้เห็นว่าคนเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตามผมจะไม่ถอนตัวจากการลงสมัคร เพราะไม่มีข้อห้าม ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้พิจารณา โดยคณะกรรมการสรรหาไม่เกี่ยวข้องกับประธานทั้ง 3 ศาล เป็นเรื่องของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)เป็นผู้สรรหา ผมมีหน้าที่นำเสนอแนวคิดการทำงานตามนโยบาย คตง.ชุดปัจจุบันอย่างไร แต่ถ้าหลังจากกฎหมายออกแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขมาตรา 108 ก็ต้องเคารพไปตามนั้น แต่ระหว่างนี้หากมีการพิจารณาทบทวนว่าขัดหลักนิติธรรมแล้วจะแก้ไขก็เป็นเรื่องของ สนช.หรือขั้นตอนที่ส่งไปยังนายกฯที่จะพิจารณาทบทวน โดยผมจะไม่ยื่นเรื่องถึงนายกฯ ให้เป็นอำนาจของนายกฯพิจารณาโดยไม่ขอก้าวล่วง” นายพิศิษฐ์ กล่าว