posttoday

"บิ๊กตู่"ลงพื้นที่จ.สตูล

29 กันยายน 2560

นายกฯนำคณะลงพื้นที่ จ.สตูล เปิดใช้งานสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา มอบเน็ตประชารัฐ พร้อมพบปะประชาชน

นายกฯนำคณะลงพื้นที่ จ.สตูล เปิดใช้งานสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา มอบเน็ตประชารัฐ พร้อมพบปะประชาชน

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 29 ก.ย.ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพล.อ.นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 56 ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา และเดินทางต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังที่ว่าการอำเภอละงู อ.ละงู จ.สตูล เพื่อลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.สตูล จากนั้นได้เดินทางโดยรถยนต์ไปยังอาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาลัยเขตสตูล ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล

โดยนายกฯ มีกำหนดการทำพิธีส่งมอบเน็ตประชารัฐจ.สตูล และWeb Conference ไปยัง 5 ภูมิภาค ใน 5 จังหวัด ณ จุดติดตั้งของแต่ละหมู่บ้านในจ.ราชบุรี พะเยา หนองคาย สระแก้ว และกระบี่ และส่งมอบ WiFi ให้แก่ผู้แทนประชาชนในพื้นที่ จากนั้นนายกฯ มีกำหนดการพบปะประชาชน ที่มาให้การต้อนรับ และทำการมอบถุงยังชีพ ให้แก่ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้แทนผู้ประสบภัยน้ำท่วม และมอบอุปกรณ์กีฬา ให้แก่นักเรียนโรงเรียนบ้านราไว อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล พร้อมเยี่ยมชมร้านค้าชุมชนที่ใช้เน็ตประชารัฐ และการนำเสนอศักยภาพโดยรวมของจ.สตูล

จากนั้น นายกฯ และคณะ จะออกเดินทางไปยังสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เพื่อเป็นประธานเปิดใช้บริการสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา และเยี่ยมชมสถานี ก่อนออกเดินทางกลับไปยังที่ว่าการอำเภอละงู หลังจากเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์กลับไปยังกองบิน 56 จ.สงขลาก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯในช่วงเย็นวันเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำปากบารา จ.สตูล เป็นโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำ Asia-Africa-Europe 1 (AAE-1) รวมระยะทาง 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชียและยุโรป โดยระบบ AAE-1 เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีระยะเวลาในการส่งข้อมูลระหว่างเอเชียตะวันออกและยุโรปต่ำสุด และยังเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกที่ทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญของโลกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวม 17 ประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและจะส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น