posttoday

"มีชัย"ปรับ"กฎหมายปปช." เลิกใช้ระบบอนุกรรมการ

18 กันยายน 2560

ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรับกฎหมายปปช.เลิกใช้ระบบอนุกรรมการเพิ่มความรวดเร็ว-ลดการซูเอี๋ย

ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรับกฎหมายปปช.เลิกใช้ระบบอนุกรรมการเพิ่มความรวดเร็ว-ลดการซูเอี๋ย

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ในแง่การทำงาน หากป.ป.ช.กับอัยการเห็นไม่ตรงกัน ก็ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ หากอัยการไม่ฟ้อง ป.ป.ช.ก็ฟ้องเองได้ แต่ละคนต่างมีอิสระ แล้วให้สังคมพิจราณาผลว่าเป็นอย่างไร แต่บางเรื่องป.ป.ช.ก็ต้องทำตาม หากอัยการบอกหลักฐานไม่พอ ป.ป.ช.ก็ต้องไปสอบเพิ่มเติม

ส่วนกระบวนการตรวจสอบ มีการปรับเปลี่ยนให้เลิกใช้ระบบอนุกรรมการ เพราะกว่าจะลงมือตรวจสอบได้ต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน ดังนั้น ให้มาใช้ระบบไต่สวนเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เริ่มทำงานได้กำหนดกรอบเวลาตรวจสอบ 2 ปี

"หากเกินกำหนด ก็ต้องสอบเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมล่าช้า สำหรับการชี้มูลความผิดของเจ้าหน้าที่นั้น กำหนดว่าป.ป.ช.ต้องทำรายละเอียดให้รอบคอบ และเป็นที่ยุติ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซูเอี๋ยกันระหว่างผู้บังคับบัญชา กับผู้ที่ต้องถูกลงโทษป.ป.ช.ต้องแข็งแกร่งในการทำสำนวนมากขึ้น"นายมีชัย กล่าว

ส่วนป.ป.ช.จังหวัด ยังอยู่ต่อไป แต่ไม่ให้มีหน้าที่ตรวจสอบ เพราะกรรมการไปนั่งในจังหวัด ก็รู้จักกันหมด จึงให้เปลี่ยนมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ส่วนการตรวจสอบให้เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ภาค จะเป็นผู้แต่งตั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญเพราะการทุจริตในพื้นที่หรือในจังหวัด ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้น หากมีประเด็นร้องเรียนเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ป.ป.ช.ส่วนกลางสามารถมอบหมายให้หน่วยงานระดับภาคเข้าไปสอบสวนในพื้นที่ได้

"ยอมรับว่าการทำกฎหมายนี้ยาก มันมีสองด้าน เรามุ่งเน้นที่จะให้มีการปราบทุจริต แต่ก็ให้อำนาจมากไม่ได้ "ประธาน กรธ. ระบุ

นอกจากนี้ การวางกรอบเพื่อจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการจัดทำร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน อยู่ระหว่างการยกร่าง และเมื่อแล้วเสร็จจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณา

ทั้งนี้ ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำร่างกฎหมายนั้น จะใช้เทคโนโลยีเข้าสนับสนุนการทำงาน เบื้องต้นจะมีแนวทางที่ประกาศร่างกฎหมายผ่านเว็ปไซต์ เพื่อให้ประชาชนที่มีความรู้และสนใจต่อตัวกฎหมายให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ

นอกจากนี้ รวมถึงเตรียมเปิดลงทะเบียนให้สำหรับประชาชนที่สนใจหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับร่างกฎหมาย เพื่อเป็นข้อมูลและหากสำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชานลงทะเบียนไว้จะเรียกมาให้ความเห็น โดยจะมีแนวทางเปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างกฎหมายที่สำคัญกระทบต่อสาธารณะ

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ขณะที่ขั้นตอนการรับฟังความเห็นนั้นอาจจะไม่ใช่ให้ความเห็นทุกระดับ โดยหลักการก่อนการยกร่างกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการยกร่างกฎหมายต้องทำเนื้อหาสรุปของกฎหมายว่าเกี่ยวกับเรื่องใด และมีผลกระทบกับประชาชนลักษณะใดหรือไม่  เพื่อให้ประชาชนแสดงความเห็น และเมื่อผ่านชั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่คณะกรรมกรกฤษฎีกา จะให้ลงเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับเต็มผ่านเว็บไซต์