posttoday

สนช.เห็นชอบกฎหมายเซตซีโร "กรรมการสิทธิฯ"

14 กันยายน 2560

สนช.เห็นชอบกฎหมายเซตซีโร "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" แจงต้องทำเพื่อให้สอดคล้องหลักการสากล

สนช.เห็นชอบกฎหมายเซตซีโร "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" แจงต้องทำเพื่อให้สอดคล้องหลักการสากล

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 177 คะแนน เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.สนช. 2.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ กสม.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการประกาศบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือ มาตรา 60 ว่าด้วยการให้ประธานกสม.และกสม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกสม.และกสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ตลอดการอภิปรายในมาตรา 60 นายวัส ติงสมิตร ประธานกสม.กล่าวแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโรกสม.ว่า การกำหนดเนื้อหาตามมาตรา 60 ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะการจะให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแบบรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 เพื่อให้กฎหมายมีความแน่นอนและไม่เกิดปัญหาในการตีความ         

ประธานกสม. กล่าวว่า การพิจารณาในปัญหานี้ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกรณีของกสม.เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วไม่ได้เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด เพราะการจะให้กฎหมายมีผลย้อนหลังจะต้องคุ้มครองความสุจริตของกสม.ที่เข้ามาในตำแหน่งตอนแรกโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีด้วย ดังนั้น จึงเห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 60 ด้วยการกำหนดให้คนที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญก็กสม.ให้พ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายไป

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรธ. ชี้แจงว่า กรธ.เห็นว่าการที่สนช.พิจารณามาตรา 60 สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่ต่อไปแต่ให้เป็นไปตามที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด

นายปกรณ์ กล่าว สาเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้เช่นนี้ เนื่องจากในอดีตเรามีปัญหามากมาย จึงต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศไทยตามคำปรารภในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน กรธ.ได้ศึกษารายงานของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Sub-Committee on Accreditation หรือ SCA ) ซึ่งได้เตือนไทยว่าสถานะของกสม.จะถูกลดลงหากยังไม่สามารถทำตามหลักการปารีสภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุมาจากกระบวนการสรรหากสม.ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ไม่มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้กสม.ปฏิบัติตามข้อกังวลดังกล่าวด้วย

“ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้กรธ.ต้องเร่งแก้ไขปัญหา และการกำหนดเช่นนี้ไมได้เป็นการให้กฎหมายมีผลย้อนหลังที่เป็นโทษแต่อย่างใด เพราะในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้อยู่แล้ว” นายปกรณ์ กล่าว