posttoday

เปิด6ยุทธศาสตร์งบปี'62

17 สิงหาคม 2560

นายกฯเผยการจัดทำงบประมาณปี62 เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ

นายกฯเผยการจัดทำงบประมาณปี62 เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการเปิดประชุมสัมมนาเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ให้แก่รองนายกฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารหน่วยงานอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2562 มีความพิเศษกว่าปีอื่นๆ คือการจัดทำงบเริ่มเร็วตั้งแต่เดือน มิ.ย. เพราะรัฐบาลให้เวลากับการทำแผนเชิงพื้นที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง เขตเศรษฐกิจอีอีซี และจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการจัดทำงบประมาณที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558-2564) นโยบายสำคัญของรัฐบาลและแผนแม่บทอื่นๆ

สำหรับประเด็นที่รัฐบาลต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการจัดทำงบประมาณปี 2562 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ให้ความสำคัญกับสถาบัน พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามประเพณีการปกครองของไทย จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญต้องเชิดชูสถาบันนี้ไว้ด้วยความจงรักภักดีและปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ การปฏิรูปกลไกการบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง สามารถขจัดคอร์รัปชั่น และมีกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ที่สั่งสมมากว่า 20 ปี และการป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบใหม่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือกับมิตรประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากเดิมที่เน้นแข่งขันโดยต้นทุนถูกมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลเองได้เร่งวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โครงข่ายโลจิสติกส์สำหรับอนาคต มีการกำหนดอุตสาหกรรม เป้าหมาย อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาศักยภาพการผลิตทางการเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ที่การพัฒนาศักยภาพคนไม่มุ่งแต่จะเฉพาะพัฒนาคนในวัยเรียน แต่พัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องก้าวข้าม ภารกิจในการจัดการศึกษาไปสู่การเป็นผู้วางแผนกำลังคนของประเทศร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงดิจิทัล และกระทรวงทางเศรษฐกิจและ สังคมอื่นๆ การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในอนาคต สอดรับประเทศไทย 4.0 สร้างคนไทยที่พึงประสงค์เพื่อรับกับศตวรรษที่ 21

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธ์ศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเจริญเติบโตจากภายในโดยต้องดำเนินมาตรการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางด้านสังคมควบคู่กันไป ในทางเศรษฐกิจจะต้องพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ที่ผ่านมารัฐบาลให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าโอท็อป อย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการบริหารจัดการน้ำ ที่ผ่านมายังถือว่าเป็นประเด็น ที่ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ขณะนี้จึงได้สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำภายใต้กำกับสำนักนายกฯ สิ่งที่ต้องเร่งรัดดำเนินการคือ ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ร่วมกันเป็นเจ้าภาพให้เกิดการจัดทำโครงการให้ครอบคลุมทั้งระบบการกักเก็บน้ำ ระบบการกระจายน้ำ น้ำบาดาล และระบบสูบน้ำ ให้ตรงกับกลุ่ม เป้าหมาย และบริหารจัดการน้ำให้ ทั่วถึงประชาชนมากที่สุด

สุดท้าย ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ที่ต้องมุ่งเน้นในการปรับความคิดข้าราชการ บุคลากรของรัฐให้เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยี และระบบดิจิทัลมาเสริมการทำงาน ต้องสร้างระบบให้ข้าราชการมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ