posttoday

เครือข่ายประชาชนค้านรายงานปฏิรูปตำรวจของสปท.

19 กรกฎาคม 2560

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจออกแถลงการณ์ค้านรายงานปฏิรูปตำรวจของ สปท. ชี้ข้อมูลไม่ตรงข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหา ไม่ใช่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างองค์กร

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจออกแถลงการณ์ค้านรายงานปฏิรูปตำรวจของ สปท. ชี้ข้อมูลไม่ตรงข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหา ไม่ใช่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างองค์กร

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ  (คป.ตร.) ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เรื่อง คัดค้านรายงานการปฏิรูปตำรวจของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า

กรณี สปท.ได้มีมติรับทราบรายงานของคณะอนุกรรมาธิการด้านปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจเพื่อส่งให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น

คป.ตร.เห็นว่า รายงานดังกล่าว ได้สรุปข้อมูลและสาเหตุของปัญหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง รวมทั้งมิใช่การปฏิรูประบบตำรวจเพื่อแก้ปัญหาตามเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากมุ่งแต่การขอเพิ่มคน และงบประมาณเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ตามข้อเท็จจริง ในเรื่องจำนวนตำรวจประเทศไทยมีมากกว่าเกือบทุกประเทศในโลกเมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากร เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 1 ต่อ 550 ในขณะที่ประเทศไทยเมื่อนำจำนวนประชากร 67 ล้าน มาหารด้วยจำนวนตำรวจทั้งประเทศ 220,000 คน จะมีสัดส่วนตำรวจ 1 คน ต่อประชาชนเพียง 300 คน เท่านั้น!

หากแต่ปัญหาตำรวจเกิดจากระบบการบริหารงานบุคคลที่ล้มเหลวในเชิงโครงสร้างที่เปิดช่องโอกาสให้เกิดการทุจริตได้ง่ายหลายรูปแบบ ตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งตำรวจระดับสูงที่ไม่จำเป็น ก่อให้ความสูญเสียสิ้นเปลืองงบประมาณในแต่ละปีมากมาย เช่น นายพลตำรวจมีจำนวนถึง 500 คน หรือพันตำรวจเอกที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนประจำสถานี ที่ปัจจุบันถูกสั่งให้ประจำกองบัญชาการ ไม่มีงานทำคุ้มค่าเงินภาษีประชาชนอยู่ขณะนี้ถึง 800 คน

นอกจากนั้น ก็ยังมีตำรวจระดับต่างๆ ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการที่ไม่จำเป็นทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจภาค 1-9 รวมทั้งไปติดตามหรือรับใช้ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ แม้กระทั่งผู้ที่เกษียณอายุแล้วเป็นจำนวนมาก

ส่วนการบริหารงบประมาณก็เต็มไปด้วยการทุจริตประพฤติมิชอบและฉ้อฉล เช่น การจัดซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลให้ดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรงนายพลตำรวจ 4-5 คน การเบียดบังเงินอุดหนุนการสืบสวนและสอบสวนของหัวหน้าสถานี ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มพนักงานสอบสวนในเรื่องนี้จำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถิติตำรวจฆ่าตัวตาย รวม 3ปี 113 คนนั้น ก็ล้วนมาจากโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ มีระบบชั้นยศแบบทหาร

คป.ตร.จึงขอแถลงการณ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่า รายงานของ สปท.ดังกล่าว ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหาตำรวจ ข้อเสนอต่างๆ ไม่ได้เป็นการปฏิรูปตำรวจในเชิงโครงสร้างองค์กรไม่ว่าจะเป็นการโอนหน่วยตำรวจไปให้กระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่ตามกฎหมายไปรับผิดชอบ การกระจายอำนาจเป็นตำรวจจังหวัด และการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ สร้างระบบตรวจสอบโดยพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีและเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชน ที่ต้องการเห็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นของประเทศมีความเป็นสากล ลดความเดือดร้อนของประชาชนและเป็นที่เชื่อถือยอมรับของผู้คนรวมทั้งนานาชาติอย่างแท้จริง