posttoday

ศาลยุติธรรมยันไร้การแทรกแซงปม "ศิริชัย" หวืดนั่งปธ.ศาลฎีก

19 กรกฎาคม 2560

โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แจงกรณี "ศิริชัย วัฒนโยธิน" ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา ยืนยันไร้การแทรกแซงและโปร่งใส

โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แจงกรณี "ศิริชัย วัฒนโยธิน" ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา ยืนยันไร้การแทรกแซงและโปร่งใส

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดา นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น นายศิริชัย วัฒนโยธิน ก่อนที่จะยืนลาออกจากประธานศาลอุทธรณ์ และกรณีการกำหนดตำแหน่งใหม่ “ที่ปรึกษาประธานศาลฏีกา” ว่ากรณีที่นายศิริชัย ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ต่อการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฏีกานั้น ยืนยันว่าเป็นไปตาม ข้อบังคับการประชุมและระเบียบคณะกรรมการศาลยุติธรรม  ว่าด้วยองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2554 ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ต. เป็นการประชุมโดยอิสระ เช่น การอภิปราย แสดงความคิดเห็นการออกเสียงลงคะแนน และตีความ ซึ่ง อ.ก.ต. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเหมาะสมของนายศิริชัย ในด้านการบริหารจัดการสำนวนคดี

นายสืบพงษ์ กล่าว คณะอนุกรรมศาลยุติธรรม หรืออ.ก.ต.ได้ให้โอกาสนายศิริชัยชี้แจงถ้อยคำถึง 2 ครั้ง ตลอดจนยังได้ให้โอกาสนายศิริชัยเสนอพยานบุคคลและพยานหลักฐานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความ ไม่ได้เป็นการรวบรัด ซึ่งที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วยมติเสียงข้างมากถึง 19 ต่อ 1 ของจำนวนอนุกรรมการที่มาประชุม เห็นว่านายศิริชัยไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา

"ส่วนประเด็นการพิจารณาลงมติของ ก.ต. นั้น ไม่สามารถทบทวนมติได้ ซึ่งใน ก.ต. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ , ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในชั้นศาลฎีกาจำนวน 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 4 คน และชั้นศาลชั้นต้นจำนวน 2 คน รวมทั้ง ก.ต. จากวุฒิสภาเลือกอีก 2 คน ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลใดที่จะมาแทรกแซงได้" โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ

นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า การลงมติของ ก.ต. กระทำโดยเปิดเผยสามารถตรวจสอบรายงานการประชุมของ ก.ต. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ อันเป็นหลักประกันแก่ข้าราชการตุลาการทุกคนที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม แม้การดำเนินงานตามมติของ ก.ต. ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งจะไม่สามารถทบทวนได้ แต่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. ถึง 21 คน หลักการดังกล่าวนี้ศาลยุติธรรม ใช้มาอย่างยาวนาน และได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระโดยองค์กรอื่นได้ 

"เมื่อคณะกรรมการศาลยุติธรรมไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการ ก.ต. ก็ต้องเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไป ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2543 มาตรา 50 จึงไม่เป็นการขัดต่อหลักอาวุโส" โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ

นายสืบพงษ์ ยังกล่าวถึง การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น กับนายศิริชัย ว่า ในการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น นายศิริชัย มีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีมูลเป็นความผิดวินัย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้ภายหลังนายศิริชัยจะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว คณะกรรมการก็ยังสามารถดำเนินการทางวินัยสอบสวนหรือพิจารณาลงโทษได้เสมือนผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 75

"เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในชั้น อ.ก.ต. และ ก.ต. ในเรื่องความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของนายศิริชัยแล้วโดยมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำผิดวินัย จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ต. ที่จะต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น ไม่เช่นนั้นอาจถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ"นายสืบพงษ์ กล่าว

ส่วนการกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ว่าก.ต.มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า การกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกานั้น เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2543 มาตรา11 วรรคสอง กำหนดว่านอกจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เช่น ตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ก.ต.มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้