posttoday

"มีชัย" ย้ำกฎหมายคดีอาญานักการเมืองไม่มีผลย้อนหลัง

19 กรกฎาคม 2560

มีชัย ย้ำร่างพ.ร.ป.พิจารณาคดีอาญานักการเมือง ไม่มีผลย้อนหลัง แจงเป็นไปตามหลักสากล ไม่กลั่นแกล้งใคร

มีชัย ย้ำร่างพ.ร.ป.พิจารณาคดีอาญานักการเมือง ไม่มีผลย้อนหลัง  แจงเป็นไปตามหลักสากล ไม่กลั่นแกล้งใคร

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณคดีอาญาของผู้ดำรตำแหน่งทางการเมือง แล้วและจะหารือกันในวันนี้ ซึ่งไม่มีส่วนใดที่เป็นการตัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เว้นแต่กรณีหนี  ซึ่งการหนีไม่ใช่เป็นสิทธิ์ หนีคือความผิด ดังนั้นไม่ใช่เรื่องไปตัดสิทธิ์ ต้องเข้าใจว่า ความเป็นธรรมต้องเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ต่อผู้ถูกกล่าวหา กับสังคมโดยรวม หากคนมีเงินแล้วหนี สังคมไม่สามารถทำอะไรได้ แต่สังคมถูกฟ้องได้ แบบนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม

“เราดูแล้วสากลก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน สากลบอกว่าหากคุณหนี ก็ดำเนินคดีลับหลังได้ เพราะการดำเนินคดีอาญาหากศาลไม่บังคับ ปกติจำเลยไม่ไปศาลก็ได้ จำเลยสละสิทธิได้ การไปศาลคือสิทธิ์ หากไม่ไป ก็เท่ากับสละสิทธิ การไปศาลถือเป็นสิทธิ ขออนุญาตไม่ไปศาลได้”

นายมีชัย กล่าวว่า การเอาผิดบุคคลที่มีคดีซึ่งค้างในศาล สนช. ได้เติมเนื้อหา แต่ไม่ได้มีผลย้อนหลัง เพราะอะไรที่ทำไปแล้วก็ใช้ได้ แต่กรณีที่จะทำต่อไปก็ให้ทำตามกฎหมายใหม่ ไม่ใช่การใช้ย้อนหลังอะไร ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นผลให้นำคดีมาพิจารณาต่อได้เลยนั้น หากเขาไปฆ่าคนตายวันนี้ ก็ต้องใช้คดีใหม่ หรือคดีที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หากจะดำเนินการใหม่ก็ต้องใช้ของใหม่ เรื่องอายุความนั้น ก็ไม่ใช้ย้อนหลัง เพราะจะไม่เป็นธรรม คนที่หนีก็หนีไป ก็ใช้อายุความเดิม

ทั้งนี้ ในประเด็นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วแต่ผู้ต้องโทษยังไม่ได้รับโทษ ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขของร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ไม่ได้กลั่นแกล้งอะไรใคร ว่าไปตามหลักกฎหมายปกติ  โดยสาระสำคัญคือ จะไม่นำมาใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ อะไรที่จะเป็นโทษต่อเขา กฎหมายไม่ใช้ย้อนหลัง อะไรที่เป็นคุณจะใช้ย้อนหลัง แต่เป็นคนละเรื่องกับกระบวนพิจารณา เพราะกระบวนการพิจารณาหากเริ่มต้นวันนี้ กระบวนพิจารณาก็ใช้ของใหม่ แม้จะเป็นคดีเก่าก็ตาม กรณีที่ศาลรับฟ้องแต่ไม่มีผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการได้ หากเริ่มต้นคดีใหม่ก็ทำได้ แม้จำหน่ายชั่วคราวไปแล้ว 

เมื่อถามว่าคดีที่อายุความยังไม่หมด จะฟ้องใหม่ได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า หากไม่เป็นการฟ้องซ้ำก็จะดำเนินการได้ แต่คดีอาญาจะมีกรณีที่ว่า หากฟ้องแล้ว หยุดกลางคันก็ฟ้องใหม่ไม่ได้เหมือนกัน แต่หากศาลจำหน่ายคดีเพราะกรณีไม่มีตัวจำเลยก็อาจยกมาฟ้องใหม่ได้

ถามต่อว่ากรณีการนับอายุความนั้นจะไม่บังคับใช้ทั้งการฟ้องคดีและบังคับคดี ใช่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า  เดิมกำหนดให้ พอฟ้องแล้วหยุด แต่ทราบว่าสนช. เติมต่อว่าหากใช้บังคับคดีแล้วก็จะให้หยุดด้วย ซึ่งยังไม่ทันเห็นเหมือนกัน ซึ่งจะมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีประเด็นใดที่ติดใจในเนื้อหาสาระหรือไม่

นายมีชัย กล่าวอีกว่า กรณี กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาความของ ร่าง พ.ร.ป.กกต.   หากมีช่องทางก็ไป ใครมีสิทธิอะไรก็ใช้ไป ห้ามไม่ได้ แต่กรณีที่ยื่นศาลไปแล้ว จะมีคำวินิจฉัยอย่างไรนั้น ตอบไม่ได้ ต้องรอดูก่อน

ด้าน นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลนำมาใช้บังคับย้อนหลังกับคดีที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินไปเรียบร้อย ดังนั้นหากจำเลยหลบหนีคดีจนเกินอายุความคดีแล้ว ก็เสมือนว่าได้พ้นโทษไปแล้ว  เนื่องจากการตีความกฎหมายทั้งเรื่องโทษและอายุความต้องไม่เป็นไปในทางที่เป็นผลร้ายต่อจำเลย 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีที่ถูกศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว และคดีอยู่ในกระบวนการพิจารณา ศาลยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินถือว่า เข้าข่ายบังคับใช้ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว หากยังมีใครติดใจอยู่ก็มีช่องทางดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ เช่น ถ้าศาลหรือจำเลยเห็นว่า มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญเรื่องอายุความก็ให้ศาลเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ หรือตัวจำเลยที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็สามารถร้องต่อศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้  ขณะที่ในส่วนประชาชน หากเห็นว่า กฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญสามารถเข้าชื่อยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน