posttoday

กมธ.แจงกม.เปืดช่องพิจารณาคดีนักการเมืองลับหลังไม่ขัดหลักสากล

17 กรกฎาคม 2560

"สมชาย แสวงการ" แจงกฎหมายเปิดช่องให้พิจารณาคดีนักการเมืองลับหลังไม่ขัดหลักสากล ลั่นบังคับใช้กับทุกคนไม่มีเลือกปฏิบัติ

"สมชาย แสวงการ" แจงกฎหมายเปิดช่องให้พิจารณาคดีนักการเมืองลับหลังไม่ขัดหลักสากล ลั่นบังคับใช้กับทุกคนไม่มีเลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แถลงข่าวว่าการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฯนี้ให้มีผลกับคดีที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของชั้นศาลนั้น ทาง สนช. ,กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญ,ได้ตรวจสอบดูแล้วว่าไม่ขัดหลักการการพิจารณาคดีอาญาโดยตัวจำเลยไม่อยู่หรือที่เรียกกันว่าการพิจารณาลับเหลังจำเลยนั้น ไม่ได้ขัดกับหลักสากล เนื่องจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)นั้นให้ข้อยกเว้นในกรณีที่จำเลยไม่มาศาล ศาลก็พิจารณาหลับหลังได้

"ขอยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้ไม่มีเจตนาจะล่าแม่มดหรือเอาผิดกับคนบางคน แต่มีเป้าหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ทุกฝ่าย ร่างพ.ร.บ.ฯนี้ไม่มีผลย้อนหลัง มีแต่เดินไปข้างหน้า หลักร่างพ.ร.บ.ฯเป็นการเปลี่ยนวิธีในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาการใช้พ.ร.บ.พิจารณาคดีแบบเดิมสามารถนำเอานักการเมืองแค่เพียงคนเดียวคือนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการ (รมว.)กระทรวงสาธารณสุขมาติดคุกเท่านั้น ส่วนคดีที่เหลือผู้ต้องสงสัยก็หลบหนีออกนอกประเทศไปหมด"นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่าเนื้อหาที่บัญญัติในร่างพ.ร.บ.ฯนี้นั้นจะยึดถือตามหลักสากลเป็นหลัก คือมีการออกหมายเรียกหมายจับ พอฝ่ายจำเลยได้รับหมายจับ ถ้าไม่มาศาล แต่ว่าแต่งทนายเข้ามาสู้คดี ก็ยังได้สิทธิรื้อฟื้นคดีและได้สิทธิอุทธรณ์ด้วย แต่ถ้าหาก 3 เดือนหลังจากที่จำเลยได้รับหมายจับ จำเลยยังไม่มาปรากฏตัวที่ศาล ศาลก็มีสิทธิพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้  ส่วนอายุความของคดีสำหรับผู้ที่สู้คดีนั้นก็ยังเท่าเดิมทุกประการ

เมื่อถามว่าเมื่อร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะดำเนินการอย่างไรกับ คดีที่พิพากษาไปแล้ว จำเลยยังหลบหนีอยู่และก็อยู่ในอายุความ นายสมชายกล่าวว่าต้องดูที่มาตรา 24 ของร่างพ.ร.บ.ฯ  ในวรรค 1,2 และ 3 ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่แล้ว ถ้าจะนำมาใช้ประโยชน์ศาลก็ทำได้ การหนีคดีนั้นจะต้องมีการแบ่งลักษณะให้ชัดเจน กรณีที่จำเลยหลบหนีไปก่อนมีคำพิพากษาของศาล กรณีที่จำเลยไม่ยอมไปที่ศาล ถ้าหากทำแบบนี้ก็จะทำให้อายุความของคดีสะดุดลงทันที ถ้ากลับมา ก็ต้องนับอายุความต่อเนื่องไป

นายสมชายกล่าวอีกว่าต่อจากนี้จะต้องส่งร่างพ.ร.บ.ฯไปให้กับ กรธ. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆเพื่อให้เขาดูว่าจะขัดต่อเจตนาของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ตนยังตอบไม่ได้จะตั้งกรรมการวิสามัญหรือไม่ แต่ถ้าหน่วยงานที่เขารับร่างพ.ร.บ.ฯไป หากเขาเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา