posttoday

การจัดการหนี้ครัวเรือน

15 กรกฎาคม 2560

ในช่วง 1-2 ปีแรกที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดย...แบงก์กลิ้ง

ในช่วง 1-2 ปีแรกที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล เพราะช่วง 2 ปีที่เข้าบริหารประเทศ การส่งออกหดตัวต่อเนื่องถึงขั้นติดลบ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรการบริโภคของประชาชนก็ไม่ฟื้นตัว เงินเฟ้อต่ำแต่เกิดเงินฝืดในระดับครัวเรือน

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกันหมด เพราะความเชื่อมโยงของกันและกันทำให้เมื่อเกิดเหตุที่ประเทศหนึ่งก็จะไปกระทบกับประเทศที่ติดต่อค้าขายด้วย  เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจ 

รัฐบาลก็ก่ายหน้าผาก เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ตัวเลขการบริโภคเอกชนก็ยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกหดตัวหนัก ซึ่งทุกฝ่ายหันมาวางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในประเทศแทน ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ลดหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

ช่วงที่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 79% แต่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 83% ของจีดีพี แต่ในปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มปรับลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีค่ากลางที่ 78.5% ต่อจีดีพี ซึ่งอยู่บนสมมติฐานจีดีพีขยายตัว 3.3% เนื่องจากมูลค่าจีดีพี ณ ราคาปัจจุบันขยายตัว
สูงกว่าที่คาดไว้เดิม ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนถูกเหนี่ยวรั้งด้วยการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงในหนี้ครัวเรือน

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในช่วง 1-3 ปีของรัฐบาลนี้ลดลงเหมือนโชคช่วยจริงๆ แม้ไม่ได้เป็นการลดลงจากเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่เป็นการลดลงจากที่ธนาคารพาณิชย์หดสินเชื่อ กลัวปัญหาหนี้เสีย ทำให้ไม่บุ่มบ่ามให้กู้

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระดับ 70-80% ของจีดีพีนี้ ไม่ได้รวมหนี้นอกระบบที่ไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดเดาว่า หากรวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของประเทศไทยจะต้องสูงเกิน 100% อย่างแน่นอน

แต่ที่น่าจับตาคือหลังจากปี 2561 เป็นต้นไป คือตั้งแต่ปีหน้านั่นแหละ จำนวนหนี้ครัวเรือนที่ลดลงนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารหดสินเชื่อ น่าจับตาดูว่าจะเป็นผลจากบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนของรัฐบาลที่ได้มีนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ ลงมาว่าหนี้นอกระบบจะต้องเป็น 0% และได้มีการกวาดล้างหนี้นอกระบบทั่วประเทศ โดยให้ทางเลือกว่าจะโดนดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนด หรือจะมาเข้าสู่ระบบ โดยรัฐบาลเปิดให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทพิโกไฟแนนซ์ ที่เป็นนิติบุคคลให้บริการสินเชื่อเงินสดได้ในท้องถิ่น ห้ามข้ามจังหวัด แต่ต้องคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 24% และห้ามทวงหนี้แบบไร้มนุษยธรรม ต้องทวงหนี้ตามกฎหมายกำหนดเช่นกัน

การกำจัดหนี้นอกระบบจะหมดไปได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และต้องสร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของประชาชนให้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควบคุมการก่อหนี้ครัวเรือนไม่ให้มีหนี้เกินตัวด้วยการกำหนดเพดานการก่อหนี้ตามรายได้ รายได้น้อยเป็นหนี้ได้น้อย รายได้มากก็ก่อหนี้ได้มาก

อย่างไรก็ดี การควบคุมการก่อหนี้ก็อาจจะทำให้คนที่มีความต้องการใช้เงินหันไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบมากขึ้นก็ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดู

แต่โดยภาพรวมการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาลนี้ก็นับว่าทำได้ดี และมีความตั้งใจจะช่วยประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจ การกวดขันของเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคตด้วย