posttoday

สปท.หนุนปฏิรูปรัฐสภา รื้องบดูงานต่างประเทศ

03 กรกฎาคม 2560

สปท.มีมติหนุนปฏิรูปสภา รื้องบดูงานต่างประเทศ แต่ค้านล้มหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้าฯ อ้างต้องมีไว้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย

สปท.มีมติหนุนปฏิรูปสภา รื้องบดูงานต่างประเทศ แต่ค้านล้มหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้าฯ อ้างต้องมีไว้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)เพื่อพิจารณารายงาน “การปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภา”ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ มีสาระสำคัญอาทิ การเสนอให้ตัดการจัดสรรงบประมาณเดินทางไปดูงานต่างประเทศของส.ส.และส.ว.  เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยว ไม่ใช่การดูงาน โดยใช้ภาษีประชาชน การเสนอไม่ให้แจกคอมพิวเตอร์แบบพกพาแก่สมาชิกรัฐสภา การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาให้มีความชัดเจนและมีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น การเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก  รวมถึงการเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541 ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานทางวิชาการในการช่วยงานรัฐสภาเป็นสำคัญ อีกทั้งให้จัดหลักสูตรทางวิชาการเฉพาะสมาชิกรัฐสภาและตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้น โดยให้ยกเลิกหลักสูตรอื่นๆที่สร้างคอนเนกชั่นเชื่อมโยงกับนักการเมือง ผู้มีอำนาจ องค์กรอิสระ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนที่ต้องวิ่งเต้น ใช้เส้นสายเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ 

ทั้งนี้สมาชิกสปท.บางส่วนอภิปรายท้วงติงการตัดงบประมาณดูงานต่างประเทศ โดยเห็นว่า การดูงานต่างประเทศยังมีความจำเป็นอยู่  ไม่ควรตัดทิ้งทั้งหมด  ควรพิจารณาเห็นชอบเป็นกรณีๆไป  ขณะที่สมาชิกสปท.หลายคน ท้วงติงเนื้อหารายงานที่เสนอให้สถาบันพระปกเกล้ายกเลิกการจัดหลักสูตรต่างๆของสถาบันฯ โดยเห็นว่าสถาบันแห่งนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการให้บุคคลไปศึกษาหลักสูตรต่างๆนั้นมีประโยชน์  การจะตัดออกไปเช่นนี้โดยอ้างถึงเรื่องคอนเน็กชั่นต่างๆจะทำให้สถาบันเสื่อมเสียได้ ซึ่ง นายกษิต ภิรมย์ รองประธานสปท.ด้านการเมือง ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาเวลาคณะกรรมาธิการไปดูงานก็ไม่ได้ไปแบบจริงจังหรือเพื่อศึกษาหาความรู้อย่างแท้จริง หลายคนก็รู้แก่ใจว่าจัดเพื่อไปเที่ยวทั้งนั้น  เช่น เวลาไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ของประเทศเขาก็ต้อนรับคณะเดินทางจากไทยอย่างเต็มที่ แต่คณะของไทยก็ไม่ได้ใส่ใจอยากจริงจัง ออกอาการกระสับกระส่าย อยากจะให้จบเร็วๆ เพราะภรรยารอไปช้อปปิ้ง ดังนั้นหากจะไปดูงานก็ควรจะเป็นการดูงานอย่างแท้จริง

ส่วนการจัดหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า นั้นนายกษิตชี้แจงว่าหลายหลักสูตรที่ระบุว่า เป็นการส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยนั้น  ถามว่าไปเทียบกับประเทศใด  ถ้าเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่านำไปเปรียบเทียบ เพราะเป็นการชมตัวเอง โดยเฉพาะการคัดเลือกคนที่เข้าไปเรียนหลักสูตรต่างๆไม่ได้เข้าไปเรียน  แต่เป็นนักล่าประกาศนียบัตร หรือไปหาคอนเนกชั่น  บางคนเรียนเกือบทุกหลักสูตรเวียนอยู่อย่างนั้น  คิดว่าเรียนแค่หลักสูตรวปอ.ก็พอแล้ว  และเมื่อไปอบรมมาไม่เห็นนำใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาประชาธิปไตย  การเมืองไทยถึงได้เน่าเฟะ  ทำให้ต้องมีการปฏิรูปขณะนี้  จึงอยากให้สถาบันพระปกเกล้าพัฒนาตรวจสอบคุณสมบัติว่า จะเข้ามาเรียนเพื่ออะไร อยากให้คนที่มาเรียนสถาบันพระปกเกล้านำความรู้มาพัฒนาส่งเสริมงานของรัฐสภาได้  ไม่ใช่คนเดียวเรียนหลายหลักสูตรเหมือนทุกวันนี้

ในช่วงท้ายการประชุม ก่อนที่จะมีการลงมติ มีสมาชิกสปท. 48 คน ขอให้กมธ.นำเนื้อหารายงานดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไข  โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระปกเกล้า ทางกมธ.ควรนำไปปรับปรุงให้เป็นไปตามรายงานสถาบันพระปกเกล้าปี2554  แต่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานสปท.การเมือง ยืนกรานจะไม่ปรับปรุงเนื้อหารายงาน  ขณะที่นายศิริชัย ไม้งาม สมาชิกสปท.เสนอญัตติให้แยกโหวตเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระปกเกล้าออกมาต่างหากจากรายงานฉบับนี้ ทำให้น.ส.วลัยลักษณ์ ศรีอรุณ รองประธานสปท. ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม พยายามไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่าย ในที่สุดนายศิริชัยจึงยอมถอนญัตติ ก่อนที่จะมีการลงมติ โดยนายเสรีระบุว่า จะนำเนื้อหาเฉพาะในส่วนที่ดีไปปรับปรุง แต่ส่วนไม่ดีจะไม่หยิบมา

อย่างไรก็ตามที่ประชุมสปท.ได้มีเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 88ต่อ12 งดออกเสียง 48 ส่งเรื่องให้ครม.รับไปดำเนินการพิจารณาต่อไป