posttoday

ดุสิตโพลเผยประชาชนยังไม่เข้าใจไพรมารีโหวต

24 มิถุนายน 2560

"ดุสิตโพล" เผยผลสำรวจประชาชน 40.30% ยังไม่เข้าใจไพรมารีโหวต มองข้อดี ได้มีส่วนร่วม แต่ข้อเสียสร้างความขัดแย้งในพรรค

"ดุสิตโพล" เผยผลสำรวจประชาชน 40.30% ยังไม่เข้าใจไพรมารีโหวต มองข้อดี ได้มีส่วนร่วม แต่ข้อเสียสร้างความขัดแย้งในพรรค

เมื่้อวันที่ 24 มิ.ย. สวนดุสิตโพล ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไร กับ "ไพรมารีโหวต" หลังจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองให้มีระบบ "ไพรมารีโหวต" คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากหลายฝ่าย เพื่อเป็นสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งทำการสำรวจ ระหว่างวันที่ 19-23 มิ.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 1,149 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 40.30 ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ไม่เคยมีระบบการเลือกตั้งแบบนี้มาก่อน ร้อยละ 34.29 ไม่เข้าใจเลย เพราะไม่ได้ติดตามข่าว ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่ามีวิธีการขั้นตอนอย่างไร ไม่เคยได้ยินมาก่อน และร้อยละ 25.41 พอเข้าใจ เพราะเคยเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศ เป็นระบบที่สหรัฐฯใช้ เคยศึกษาข้อมูลมาบ้าง

ส่วนข้อดีและข้อเสียของระบบไพรมารีโหวต ในส่วนข้อดี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.98 ระบุว่า เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ร้อยละ 68.15 ได้ผู้สมัครที่มาจากตัวแทนประชาชนที่แท้จริง และร้อยละ 64.93 ป้องกันไม่ให้เกิดระบบนายทุน ส่วนข้อเสีย ร้อยละ 72.32 ระบุว่า สร้างความขัดแย้งภายในพรรค รองลงมาร้อยละ 63.71 ยุ่งยาก หลายขั้นตอน ใช้เวลามาก และ ร้อยละ 60.84 ระบุว่า พรรคเล็กปฎิบัติได้ยาก มีข้อจำกัด

ส่วนความเห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ ประชาชนคิดว่าการส่งตัวแทนลงสมัคร ส.ส. น่าจะใช้แบบใด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.76เห็นว่า เป็นแบบไพรมารีโหวต คือ สมาชิกและสาขาพรรคมีส่วนร่วมในการเลือก เพราะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เป็นวิธีที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใช้ มีผลดีในระยะยาว ป้องกันระบบนายทุน เป็นทางเลือกใหม่ ร้อยละ 34.98 ระบุว่า แบบเก่า คือหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคเป็นคนเลือก และร้อยละ 15.26 ไม่แน่ใจ เพรายังไม่เคยใช้ระบบไพรมารีโหวต ไม่รู้ข้อดี ข้อเสีย จะใช้วิธีการใดก้อได้แต่ขอให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส