posttoday

กมธ.ยันไพรมารีโหวตจำเป็น มั่นใจไม่ขัดเจตนารมณ์รธน.

20 มิถุนายน 2560

ประธานกมธ.พิจารณาร่างกฎหมายพรรคการเมือง ยันไพรมารีโหวตไม่ขัดเจตนารมณ์รธน. ชี้ตัวแทนพรรคการเมืองเสนอให้ใช้เพื่อปลดนายทุนครอบงำ

ประธานกมธ.พิจารณาร่างกฎหมายพรรคการเมือง ยันไพรมารีโหวตไม่ขัดเจตนารมณ์รธน. ชี้ตัวแทนพรรคการเมืองเสนอให้ใช้เพื่อปลดนายทุนครอบงำ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. พล.อ.สมเจตน์  บุญถนอม ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยว่า กรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แสดงความเป็นห่วงการนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ในการคัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคการเมืองจะเกิดปัญหาทางปฏิบัติให้พรรคการเมืองเตรียมตัวผู้สมัครเลือกตั้งไม่ทันเวลานั้น ซึ่งเท่าที่ฟังดู นายมีชัยไม่ได้คัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพียงแต่บอกว่า อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องปรับแก้บ้าง แต่ไม่ได้คัดค้านหลักการไพรมารีโหวต 

"หากในที่สุดมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมา ก็ต้องมาคุยกันว่าจะทบทวนอะไร  หากทบทวนแนวทางปฏิบัติระบบไพรมารีโหวตที่อาจมีปัญหาแล้ว แก้ไขให้ดีก็อาจเป็นไปได้ ยอมรับว่าการปฏิบัติอาจมีปัญหาบ้าง ก็ต้องมาปรับแก้กันทำให้ดี แต่ถ้าจะให้ทบทวนถึงขั้นตัดระบบไพรมารีโหวตทิ้ง ต้องระบุให้ชัดเจนว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างไร"พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กมธ.ยืนยันว่าไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ที่ระบุถึงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและคัดเลือกผู้มีความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ มาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ส่วนที่กรธ.และพรรคการเมืองห่วงการนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้อาจทำให้พรรคการเมืองเตรียมผู้สมัครเลือกตั้งไม่ทันนั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวกมธ.เคยสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองให้กรธ.พิจารณา ซึ่งกกต.บอกว่าหลักการคัดเลือกผู้สมัครคล้ายๆกับไพรมารีโหวต ขณะเดียวกันตัวแทนของพรรคการเมืองที่อยู่ในกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เป็นผู้เสนอเรื่องไพรมารีโหวตมาเอง รวมทั้งนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.  และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ก็สนับสนุนแนวทางนี้ บอกว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาไม่ให้พรรคการเมืองตกเป็นของนายทุน

"นักการเมืองบางคนสนับสนุน ไม่ได้คัดค้านทั้งหมด คนที่คัดค้านต้องตอบว่า การทำให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตยขัดกับหลักประชาธิปไตยตรงไหน  แต่ทั้งนี้ไม่ว่ากรรมาธิการร่วมฯปรับปรุงออกมาเป็นอย่างไร แล้วที่ประชุมสนช.ลงมติอย่างไร ก็พร้อมยอมรับ"พล.อ.สมเจตน์ ระบุ