posttoday

สงคราม ‘บัตรทอง’ ต้องยุติ เลิกเป็นศัตรู หยุดทำลายล้าง ร่วมพัฒนา

18 มิถุนายน 2560

เรื่องร้อนในแวดวงสาธารณสุขกำลังถูกยกระดับเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่ คือความขัดแย้งจากการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ / ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

เรื่องร้อนในแวดวงสาธารณสุขกำลังถูกยกระดับเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่ คือความขัดแย้งจากการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง หรือ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ใช้มา 15 ปี

ต้นเรื่องมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ให้แก้ปัญหางบบัตรทองหลังพบว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาการบริหารจัดการงบของโรงพยาบาลขาดความคล่องตัว กระทบงานบริการคนไข้ นำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ รมว.สาธารณสุขลงนามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

โครงการบัตรทองเป็นการปฏิวัติระบบการรักษาให้คนไทยได้สิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นองค์กรของรัฐตามกฎหมายบัตรทอง ดำเนินโครงการนี้รับผิดชอบงบประมาณสูงนับแสนล้านบาท เป็นผู้จัดหาบริการให้คนไทยเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม 

ทว่าตลอดเวลาของการดำเนินโครงการบัตรทองกลับกลายเป็นศึกระหว่าง สธ. กับ สปสช. แม้ทั้งสองจะมีบุคลากรจากวงการสาธารณสุขด้วยกัน แต่ฝ่าย สปสช.ได้ภาคประชาชนเป็นแนวร่วมจากกลุ่มรักสุขภาพที่ได้ประโยชน์ตรงจากการรักษา รวมถึงงบประมาณที่ สปสช.อุดหนุนให้เครือข่ายประชาชนจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพด้านต่างๆ ขณะที่ สธ.โจมตีการบริหารงานกองทุนบัตรทองของ สปสช. มาตลอดว่าไม่มีประสิทธิภาพเป็นต้นตอทำให้โรงพยาบาลของรัฐขาดทุนอยู่ในภาวะวิกฤต

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจขอแก้ไขกฎหมายบัตรทอง เครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนพุ่งเป้า นี่เป็นแผนทุบหัวใจ ทำลายกลไกภาคประชาชนที่เข้มแข็ง หลังจากรัฐบาลทหารเคยให้ คตร.ตรวจสอบการทำงานของ สสส. องค์กรเครือญาติ สปสช.มาแล้ว ทั้งหมดพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลว่าต้องการรวบอำนาจกลับคืนไปที่ สธ. สุดท้ายกระทบต่อสิทธิการรักษาของประชาชน

เวทีประชาพิจารณ์ถูกกำหนดให้มี 4 ครั้ง เพื่อนำผลสรุปเสนอต่อ รมว.สธ. ทว่าทุกเวทีร้อนแรงเพราะภาคประชาชนวอล์กเอาต์ ล่าสุดที่ จ.ขอนแก่น ต้องล่มลง เหลืออีกที่กรุงเทพฯเป็นเวทีสุดท้ายของศึกยกแรก นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณากฎหมายบัตรทอง กับบทบาท “คนกลาง” อธิบายกับโพสต์ทูเดย์ว่า ประเด็นหลักในการเปิดรับฟังความคิดเห็นมีทั้งหมด 14 ประเด็น แต่หากแยกแล้วจะเหลือแค่ 3 เรื่องใหญ่

ประเด็นแรก กฎหมายใช้มากว่า 15 ปี จนติดขัดอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินของหน่วยบริการ หรือ สปสช. เช่น การที่ สปสช.จ่ายเงินให้กับหน่วยงานหนึ่งด้านสาธารณสุข แต่เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตีความตามกฎหมายว่าไม่สามารถจ่ายได้ต้องเรียกเงินคืน ซึ่งแบบนี้ก็ติดขัดและเดินหน้าต่อไม่ได้

“คำนิยามของกฎหมายต้องถูกตีความและถูกจำกัด โดยเฉพาะคำว่าเงินบริการทางการแพทย์ต้องจ่ายโดยตรงต่อบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านส่งเสริมต่างๆ ในหน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาลเมื่อได้เงินมาแล้วจะนำเงินไปซ่อมแซมอาคาร เปลี่ยนหลอดไฟ ก็ทำไม่ได้ เพราะคำนิยามตีความเอาไว้แบบนั้น มันจึงเกิดความขัดแย้งกัน” นพ.พลเดช กล่าว

ประเด็นที่สอง อำนาจทางการเมือง หรือตัวแทนที่จะอยู่ในบอร์ดบริหารและบอร์ดควบคุม รวมถึง เลขาธิการ สปสช. ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เป็นปัญหาที่ต่อสู้กันอย่างหนัก เพื่อสัดส่วนของพรรคพวกตนเองที่จะได้อยู่ในบอร์ดให้มากที่สุด

ประเด็นสุดท้าย เรื่องของการเงิน คือ การแยกเงินเดือนข้าราชการสาธารณสุขออกจากค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว หรือจะรวมกันอยู่อย่างปัจจุบัน ฝ่ายหนึ่งอยากให้แยก อีกฝ่ายอยากให้รวม เรื่องนี้ต้องใช้งานวิจัยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา และมีเหตุปัจจัยภายในซับซ้อนหลายอย่างมาก

นพ.พลเดช บอกอีกว่า ทั้ง 3 ประเด็น คือ ภาพใหญ่ของปัญหาการแก้กฎหมายบัตรทอง จะเห็นได้ว่า หากจะแก้ไขก็ต้องมีข้อคิดเห็น แต่แน่นอนมีบางส่วนที่ต้องการให้ล้มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด หากทำเช่นนั้นเราก็จะเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่ติดขัดมาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี อย่างไรเสียก็เข้าใจกลุ่มที่ไม่ต้องการให้เกิดการประชาพิจารณ์ เพราะกังวลว่าการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการดำเนินโครงการบัตรทอง

“โครงสร้างบอร์ดบริหารบัตรทองที่ยังสร้างความกังวลระหว่างกันอยู่ เพราะแต่ละฝั่งทั้งกระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาชน รวมถึง สปสช. ก็อยากจะให้คนของตัวเองมาอยู่ในบอร์ดในสัดส่วนที่มากกว่า เรื่องนี้ก็ต้องไปเจรจากัน ยอมกันได้แค่ไหน มันจะดันให้สุดทางใดทางหนึ่งไม่ได้ ต้องหาตรงกลางระหว่างกัน”

บรรยากาศการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 เวที นพ.พลเดช สรุปให้ฟังว่า แม้จะมีการวอล์กเอาต์จากฝ่ายภาคประชาชน แต่ทุกคนก็แสดงความคิดเห็นอยู่ในกติกา ที่สำคัญไม่มีความรุนแรง ไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย

“สิ่งที่ผมเห็นว่าดี คือการตื่นตัวทั้งภาคประชาชน สปสช. รวมถึงฝั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้เวทีประชาพิจารณ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เขาไม่ได้มองว่า นี่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น แต่เมื่อมีการวอล์กเอาต์ เราก็ต้องรายงานลงไปด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นบรรยากาศ เป็นสีสันของเวทีประชาพิจารณ์ การปฏิเสธเวทีก็อยู่ที่เหตุผลของแต่ละกลุ่ม แต่เนื้อหาสาระก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ผมรู้สึกเสียดายแทนกลุ่มคนที่วอล์กเอาต์ที่ไม่ได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ”

ในฐานะผู้จัดเวทีประชาพิจารณ์ นพ.พลเดช สรุปว่า เราได้รับฟังข้อคิดที่มีคุณภาพไว้หมด ทุกคนใช้เหตุผลลุ่มลึก มีเนื้อหาสาระ แม้จะมีอารมณ์กันบ้างแต่ก็อยู่ในกรอบที่ดี ไม่มีการมาด่าพ่อด่าแม่กัน ซึ่งขั้นต่อไปหลังจบเวทีที่กรุงเทพฯ ก็จะจัดสรุปผลรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดให้เสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ก่อนจะส่งให้กับ รมว.สาธารณสุขพิจารณาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

“ลึกๆ ผมเชื่อว่าเมื่อถึงวันนี้มันก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอย่างแน่นอน และคงเดินหน้าไปในทิศทางนั้น เพราะจากการรับฟังความเห็น ภาคประชาชน และกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่มีข้อกังวลบางเรื่อง ซึ่งยังคงเจรจาและพูดคุยกันได้ แต่ก็ไม่ได้กระทบกับภาพรวมของปัญหา” นพ.พลเดช กล่าว

สำหรับ นพ.พลเดช แม้จะทำงานภาคประชาสังคมมายาวนาน เข้าใจหัวอกเครือข่ายสุขภาพที่คัดค้านการแก้ไข แต่เขาก็ยืนยันได้ว่าไม่มีใครคิดจะล้มโครงการบัตรทอง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็ไม่ควรสุดขั้วมากเกินไป ที่สำคัญกระบวนการแก้ไขครั้งนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ภาคประชาชนจะได้ขับเคลื่อน ต่อรอง แม้จะผ่านเวทีประชาพิจารณ์ไปแล้ว ยังมีอีกในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือในกรรมาธิการช่วงแก้ไขร่าง  

ยิงคำถามว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้อะไรกลับมากับการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง นพ.พลเดช ย้อนภาพว่า เดิมมันเป็นความทุกข์ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างหนึ่งที่ถูกแยกอำนาจ จากเดิมที่เคยรวบเอาไว้ทั้งอำนาจการเป็นผู้ให้บริการ และอีกส่วนคืออำนาจการบริหารงบประมาณ แต่เมื่องบประมาณถูกแยกมาให้ สปสช. มาจัดการจึงเกิดความทุกข์ใจ แต่ยอมรับว่าการแยกอำนาจเป็นผลดีของประชาชน ผู้รับบริการ 

นพ.พลเดช ย้ำว่า หลักการสำคัญคือ “การแยกอำนาจ” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องเสียงบประมาณกว่าแสนล้านบาทด้านการประกันสุขภาพบัตรทองมาอยู่กับ สปสช. องค์กรเกิดใหม่ เพื่อมาบริหารจัดการงบประมาณบัตรทอง ขณะเดียวกัน สปสช.ก็เป็นกลไกที่คอยตรวจสอบคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลของรัฐด้วย และเป็นการสร้างสมดุลที่เหมาะสม ยืนยันว่าการแยกอำนาจตรงนี้เป็นเรื่องดีสำหรับประชาชน และคงไม่มีใครกล้ามาแตะเรื่องดีของประชาชนด้วย

นพ.พลเดช ให้ข้อคิดว่า การบริหารงานของบอร์ด สปสช. ในระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ทำเรื่องโครงการบัตรทอง ไม่สามารถสร้างบรรยากาศการทำงานแบบ “ร่วมคิดร่วมทำ” หรือ “ร่วมกันพัฒนา” ได้ แต่กลับเป็นบรรยากาศของสงครามเป็นคู่ต่อสู้ระหว่างกัน ซึ่งหากบอร์ดบริหารขององค์กรใดเผชิญปัญหาลักษณะนี้ไม่นานก็ต้องล่มสลาย

“ช่วงหลังคนไทยติดนิสัยอยู่ในโหมดต่อสู้ ระแวงกันตลอดเวลา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือธรรมชาติที่ต้องระแวดระวังกัน เพราะไม่อยากให้ตัวเองเพลี่ยงพล้ำ เรื่องการแก้กฎหมายบัตรทองนั้น จะแก้หรือไม่แก้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญคือต้องสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันใหม่ คนที่อาจจะเข้ามาในอนาคตจะต้องไม่ใช่คนที่ต้องการต่อสู้ แต่ต้องการพัฒนาและยอมรับฟังกันและกัน สร้างความเปลี่ยนแปลงกันใหม่ สัดส่วนบอร์ดไม่สำคัญเลย หากเรามีคนที่ต้องการพัฒนาและทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” นพ.พลเดช ให้ความเห็น

นพ.พลเดช กล่าวว่า ที่ผ่านมารับรู้ได้ตลอดถึงการต่อสู้ความขัดแย้งภายในบอร์ด ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน แต่ก็ยังไม่เกินที่จะแก้ไขเพื่อเยียวยา หากแต่จะไปบอกในชั่วยามนี้ว่าต้องร่วมกันทำงานคงยังไม่มีใครฟัง แต่ถ้ายังยืนในแนวคิดของตัวเองแบบสุดขั้วหรือสุดโต่ง สุดท้ายระยะยาวประชาชนจะเสียประโยชน์เองและกระทรวงสาธารณสุขก็จะมีปัญหาตามมาด้วย เช่น หากภาคประชาชนก็คิดสุดโต่งไม่สนใจ ให้คุณค่าฝ่ายผู้ให้บริการ (สธ.) เลยมันก็จะตามมาด้วยความรู้สึกหรือบรรยากาศไม่ไว้วางใจระหว่างคนไข้กับแพทย์

“หมอก็เคยรักษาคนไข้ผิดพลาด แต่ด้วยความสัมพันธ์ ศรัทธา และเคารพนับถือ ระหว่างคนไข้กับแพทย์ ก็ทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว หมอพลาดโดนฟ้องเละ นี่คือคุณค่าเดิมของสังคมไทยที่หายไป แต่ด้วยวิธีการที่สู้กันแบบนี้ ถามหน่อยมันดีหรือไม่ ประชาชนมีความสุขหรือไม่ที่ไปคอยฟ้องแพทย์ หวาดระแวงว่าแพทย์จะเอาผลประโยชน์จากประชาชน มันต้องคิดใหม่ แต่ยอมรับว่ายากแล้ว เพราะทุกวันนี้ความสัมพันธ์คนไข้กับหมอมันห่างไกลไปมาก แต่จะปล่อยไปตลอดไม่ได้ ต้องเริ่มแก้ไขกัน” นพ.พลเดช เน้นย้ำ

นพ.พลเดช ย้ำว่า ทุกฝ่ายหนักแน่น ที่สุดกฎหมายมันก็ต้องมีการแก้ไข เพราะหากไม่ทำมันก็เดินหน้าไม่ได้ และจะส่งผลกระทบต่อการบริการที่จะสะดุดทั้งหมด

“ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า วันนี้ไม่ใช่ปัญหาระหว่างแพทย์ด้วยกันเองแล้ว แต่เป็นปัญหาด้านสุขภาวะของประชาชนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องหยุดและออกจากโหมดต่อสู้ วันนี้ทั่วโลกต่างชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพของไทย และต้องการนำไปเป็นแบบอย่างในประเทศของตนเองอีกด้วย ต่างชาติก็ยกนิ้วให้เราทั้งนั้น โดยเฉพาะการเกิดขององค์กรตระกูล ส.ต่างๆ ขณะเดียวกันเราก็หยุดการพัฒนาระบบของเราไม่ได้” นพ.พลเดช กล่าว