posttoday

"มาร์ค" ชี้ความสำเร็จปรองดองต้องดูหลังเลือกตั้ง

17 มิถุนายน 2560

อภิสิทธิ์เผยการเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้แทนพรรคไม่อยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติ ชี้ความสำเร็จปรองดองต้องดูหลังเลือกตั้ง ระบุ 4 คำถามนายกฯไม่อยู่บนหลักวิทยาศาสตร์

อภิสิทธิ์ เผยการเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้แทนพรรคไม่อยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติ ชี้ความสำเร็จปรองดองต้องดูหลังเลือกตั้ง ระบุ 4 คำถามนายกฯไม่อยู่บนหลักวิทยาศาสตร์

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้แทนพรรคการเมืองในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า ขอทำความเข้าใจกับเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองก่อน เพราะมีการเพิ่มถ้อยคำ เช่น การคัดเลือกผู้สมัครต้องผ่านการพิจารณาจากสาขาพรรค จากผู้แทนประจำจังหวัดที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้ง จึงไม่แน่ใจว่าต้องผ่านการพิจารณาจากส่วนใดบ้าง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องไปไล่เรียงกฎหมายฉบับนี้

“ทั้งนี้ทราบถึงความตั้งใจและแนวคิดที่หวังดีของผู้ร่าง แต่เนื้อหาของร่างกฎหมายพรรคการเมือง ไม่อยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการสรรหาบุคคลภายนอกเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ขณะที่บางพื้นที่ไม่มีสาขาพรรค ก็จำเป็นต้องเร่งจัดตั้ง ซึ่งต้องดูว่าเรื่องดังกล่าวขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิ์ในการคัดเลือกผู้แทนของพรรคการเมืองหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะมีการนำร่างสัญญาประชาคมที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการปรองดอง เปิดเผยต่อสาธารณะได้ภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบแนวทางการจัดทำร่าง และยังไม่เห็นตัวร่างดังกล่าว ซึ่งภายหลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ไปแล้ว ล่าสุดเป็นเพียงการเชิญไปตรวจการสรุปความคิดเห็นทั้งหมด และหวังว่าคณะกรรมการฯ จะรับฟังสิ่งที่เสนอไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จในการสร้างความปรองดองที่แท้จริง คงต้องดูสถานการณ์บ้านเมืองภายหลังการเลือกตั้ง จะมีความขัดแย้งเหมือนเดิมหรือไม่ และต้องให้ทุกฝ่ายทบทวนตัวเองและเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่เชิญทุกฝ่ายมาเซ็นต์เอกสารเท่านั้น

เมื่อถามถึงภาพรวมประชาชนการตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นประเด็น 4 คำถามของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการสอบถามความคิดเห็นที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ของการสำรวจความคิดเห็น จึงไม่สามารถตอบเรื่องดังกล่าวได้