posttoday

กกต.มีมติยื่นสนช. 2 ประเด็น ร่างพรป. ขัดรัฐธรรมนูญ

14 มิถุนายน 2560

กกต.มีมติยื่น สนช. 2 ประเด็น ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ ปมอำนาจการจัดเลือกตั้งและการสั่งระงับ พร้อมรอพิจารณาประเด็นอื่นรวมทั้งคุณสมบัติเพิ่มก่อน 23 มิ.ย.

กกต.มีมติยื่น สนช. 2 ประเด็น ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ ปมอำนาจการจัดเลือกตั้งและการสั่งระงับ พร้อมรอพิจารณาประเด็นอื่นรวมทั้งคุณสมบัติเพิ่มก่อน 23 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายภูมิพิทักษ์  กองแก้ว โฆษกกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  แถลงผลการหารือข้อกฎหมายระหว่าง กกต.  กับคณะที่ปรึกษากฎหมายว่า  กกต.ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ร่างพ.ร.ป. กกต.) พบว่า มี 2 ประเด็นที่ กกต. มีมติแล้วว่าจะต้องยื่นคัดค้านเพราะเห็นว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 ตาม 21 ในร่างพ.ร.ป. เรื่องอำนาจ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 224 (1) ให้อำนาจหน้าที่ กกต.  เลือกที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น  หรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดโดย กกต. เป็นผู้กำกับดูแล แต่ร่างพ.ร.ป.กลับบัญญัติในมาตรา 27 วรรคแรก ให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่เฉพาะการกำกับควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาหรือผู้บริหาร โดยมอบหน้าที่การดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐ  ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  ถือว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของ กกต.

"รัฐธรรมนูญมองเห็นปัญหาในอดีตที่ กกต. เคยสั่งให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดการเลือกตั้ง  แต่ถูกบางองค์กรปกครองท้องถิ่นปฏิเสธ หรือในกรณีที่เห็นว่าฝ่ายประจำมีความไม่เป็นกลาง จึงกำหนดเป็นตัวเลือกให้ กกต. ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นเอง แต่ร่างพ.ร.ป. กกต. ที่ สนช. เห็นชอบกลับกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเองเท่านั้น  กกต.เพียงแค่กำกับดูแลเท่านั้น"นายภูมิพิทักษ์ กล่าว

ประเด็นที่ 2 รัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรค 3  ให้อำนาจหน้าที่ กกต. แต่ละคน สามารถสั่งระงับและสั่งเลือกตั้งใหม่ในหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตที่เห็นว่ามีปัญหาไม่สุจริตเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้  แต่ร่างพ.ร.ป.ที่ผ่าน สนช. มาตรา 26 (3) กลับบัญญัติให้อำนาจเพียงแค่ชะลอการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเท่านั้น  โดยจะต้องนำมาขอมติคณะกรรมการ กกต. เพื่อยืนยันอีกครั้ง  และให้คณะกรรมการ กกต. ลงมติกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่ง กกต. เห็นว่า ร่างพ.ร.ป. บัญญัติไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

"การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลทำให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งล่าช้า เพราะจะต้องรอไว้จนกว่าจะมีมติของ กกต. ทั้งคณะ  และอาจกระทบถึงการประกาศผลเลือกตั้งให้ครบ 95 % เพื่อเปิดการประชุมรัฐสภานัดแรกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย"นายภูมิพิทักษ์กล่าว

โฆษก กกต. กล่าวว่า  เนื่องจากหนังสือแจ้งการเห็นชอบร่างกฎหมายของ สนช. เพิ่งจะมาถึง กกต. วันนี้  กกต. จึงยังมีเวลาพิจารณาประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ 10 วัน  โดยจะต้องส่งเรื่องกลับไปยัง สนช. ภายในวันที่ 23 มิ.ย.

นายภูมิพิทักษ์กล่าวว่า ประเด็น คุณสมบัติ กกต. ชุดเดิมที่มีข่าวว่าจะทักท้วงนั้น  กกต.จะมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกที รวมทั้งประเด็นอื่นที่อาจจะเพิ่มเติบด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่กกกต.ยื่นประเด็นที่เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญต่อ สนช. จะมีผลทำให้ สนช. ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยในส่วนของ กกต. จะมีประธาน กกต. ไปร่วมเป็นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาในประเด็นที่เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลา 15 วัน