posttoday

ฉลาด เกมส์ โกง : ภาพสะท้อนสังคมกับคอร์รัปชั่น (1)

29 พฤษภาคม 2560

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT

โดย...กิตติเดช ฉันทังกูล ผู้จัดการโครงการแนวร่วมปฏิบัติ ของภาคเอกชนไทยในการ ต่อต้านการทุจริต (CAC)

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ให้ไปดูภาพยนตร์ “ฉลาดเกมส์โกง” รอบพิเศษ ซึ่งเป็นหนังของค่าย GDH ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของการทำหนังดีมีคุณภาพ โทนเนื้อเรื่องหลักๆ ของหนังค่าย GDH ที่ผ่านมามักเป็นเรื่องความรักในมุมมองต่างๆ แต่มาเรื่องนี้ผมคิดว่า ผู้กำกับและค่ายหนังใจถึงที่มาคิดทำหนังแนวกลโกง ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏในสารบบหนังไทยมาก่อนเลย เพราะเท่าที่จำได้ หนังไทยส่วนใหญ่มักหยิบองค์ประกอบอยู่สามสี่อย่าง เรื่องรัก มีผี มีตลก มีกะเทย มาใส่รวมกันแล้วยำเป็นหนังหนึ่งเรื่อง พล็อตเรื่องก็หนีไม่พ้นความรัก กับอีกแนวคือแนวรักชาติบู๊ล้างผลาญ ไม่ค่อยจะมีหนังแนวนี้ออกมาสักเท่าไร  ฉากเริ่มต้นของหนังใช้ความตลกเป็นตัวลดโทนชื่อเรื่องที่ดูตึงเครียดไปได้เยอะ การแทรกบทตลกเพื่อสลับอารมณ์ของหนังก็ทำได้ดี ไม่มากไปจนกวนสาระหลักของหนัง แต่ในทางกลับกันบทตลกในหลายๆ ฉากที่แทรกเข้ามายิ่งช่วยดึงความสนใจของผู้ชมได้ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งต้องให้เครดิตผู้กำกับและทีมเขียนบทที่สร้างผลงานออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เป็นหนังที่ทั้งดูสนุกและมีสาระเต็มเปี่ยม

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่หนังนำมาสะท้อนได้อย่างน่าสนใจ คือเรื่องความย้อนแย้งระหว่างมุมมองคำว่าโกงของผู้ใหญ่กับเด็ก ซึ่งเด่นชัดมากโดยเฉพาะฉากที่ลินทะเลาะกับผู้อำนวยการโรงเรียน เรื่องเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะ ทั้งที่ตอนสัมภาษณ์รับเข้าเรียน ผู้อำนวยการบอกให้ทุนเรียนฟรี แต่ผู้อำนวยการสวนน้องลินกลับว่าเขาเรียกค่าบำรุงสถานศึกษาก่อนจะหันไปฟ้องพ่อลินว่าอบรมลูกยังไง (ถึงยอมรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้) พอกลับถึงบ้าน ลินก็บอกพ่อว่า “ก็โรงเรียนโกงเราก่อน” (ค่าแป๊ะเจี๊ยะ-พร้อมใบเสร็จระบุว่า ค่าบำรุงสถานศึกษาที่ลินค้นเจอและรู้สึกว่านี่คือการโกง) แต่บทสนทนายังไม่จบแค่นั้น คุณพ่อซึ่งเป็นครูดันตอบว่า “พ่อยินยอมจ่ายเอง” !!! พอสิ้นเสียงตวาดตอบเท่านั้น ก็ทำให้ลูกสาวต้องหลั่งน้ำตายอมรับความจริงอันแสนเจ็บปวด 

ฉากสั้นๆ นี้แหละครับที่ผมคิดว่ามันสะท้อนขนบคิดและปัญหาของระบบการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าไปดูข้อมูลสำรวจทัศนคติและประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน 6,000 ครอบครัวที่จัดทำโดย ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร จะพบว่าสถานที่ราชการที่คนตอบว่าเจอเรียกรับสินบนมากที่สุดอันดับสามคือ โรงเรียนรัฐบาล (ร้อยละ13) !!!  เรียกกันว่าค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินเปล่า เงินบริจาคเพื่อพัฒนาการศึกษา ค่าบำรุงสถานศึกษานั้น ก็แล้วแต่จะตั้งชื่อเรียกกันไปให้ออกใบเสร็จได้ แต่ข้อใหญ่ใจความมันก็คือเงินสินบนอยู่ดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเงินก้อนนี้เป็นเงื่อนไขการรับบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียน และผู้ปกครองโดยมากก็ต้องยอมจ่ายโดยไม่มีทางเลือก ส่วนคะแนนสอบก็เป็นแค่ปัจจัยสำหรับต่อรองให้ต้องจ่ายมากขึ้น ในกรณีที่เด็กคนนั้นบ้านรวยแต่ดันสอบได้คะแนนแย่

อย่างไรก็ตาม ต้องขอเน้นย้ำว่า การโกงข้อสอบ กับคอร์รัปชั่นนั้นแตกต่างกัน แม้จะถูกเรียกว่าโกงเหมือนกันก็ตาม สองคำนี้ภาษาอังกฤษใช้ต่างกันว่า Cheat กับ Corruption เพราะโกงข้อสอบเป็นแค่การเล่นนอกกติกาโดยใช้ความสามารถและใจถึงของตนเองเพื่อแหกกฎ แต่คอร์รัปชั่นไม่ได้จำกัดแค่เล่นตามกฎกติกาหรือไม่ เพราะคอร์รัปชั่นหลายกรณีก็ทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ใจไม่ต้องถึงเล่นตามบทกินตามน้ำเนี่ยละครับ ซึ่งคนที่จะคอร์รัปชั่นได้ก็ไม่จำเป็นต้องมีดีกรีเหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิก ขอให้แค่ได้เข้าสู่วงโคจรอำนาจรัฐ เป็นอันว่าทำมาหากินได้แล้ว แล้วค่อยเอาอำนาจหน้าที่ไปแลกเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์กลับมา แต่โกงข้อสอบนี่ ไม่ใช่เลย ผลโกงอย่างมากก็ได้เกรดสอบผ่าน แต่จะแลกเปลี่ยนการโกงข้อสอบเป็นเงินได้ก็ต้องทำอย่างในหนังว่า แต่ความเสี่ยงถูกจับได้ก็สูงเพราะต้องทำในสภาพแวดล้อมที่ถูกตรวจจับได้ง่ายและอยู่ในห้องโล่งแจ้ง

ส่วนคอร์รัปชั่นถ้าทำเป็น เริ่มได้ตั้งแต่การออกข้อสอบเลย นักคอร์รัปชั่นเขาไปล็อกสเปกข้อสอบคำตอบเขากำหนดเองหมด ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งคิดนั่งทำแล้วค่อยจำคำตอบมากดส่งมือถือในห้องน้ำให้วุ่นวาย ไม่มีมานั่งส่งซิกเคาะนิ้วในห้องสอบ ให้เห็นแบบการโกงในหนังหรอกครับ (อย่างมากก็เขียนตัวเลขใส่ฝ่ามือแล้วลบออก) ของแบบนี้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นคอร์รัปชั่นได้ต้องเกิดขึ้นในที่ลับตากับครูผู้ออกข้อสอบ (= คนที่มีอำนาจ) เท่านั้นครับ ดังนั้นโอกาสจะถูกจับได้ต่ำมาก ยิ่งมีเสือกระดาษเยอะยิ่งสบายใจได้ แถมกระบวนการยุติทำก็ยินดีต้อนรับทุกบัตรอยู่แล้วยิ่งมั่นใจใหญ่ หากเกิดข้อผิดข้อพลาดไปก็ยังตามมาแก้เกี้ยวได้ฉะนั้นกลวิธีการโกงข้อสอบจึงอยู่ห่างคอร์รัปชั่นอีกหลายขุม