posttoday

สนช.นัดหารือร่างกม.ลูกเตรียมการเลือกตั้งต่อ22พ.ค.60

20 พฤษภาคม 2560

สนช.ยังไม่จบกฎหมายลูกกกต.-พรรคการเมือง เตรียมกลับไปหารือต่อ 22พ.ค.นี้

สนช.ยังไม่จบกฎหมายลูกกกต.-พรรคการเมือง เตรียมกลับไปหารือต่อ 22พ.ค.นี้

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงภายหลังการสัมมนาเรื่องพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ได้นำเสนอข้อมูล ซึ่งมีประเด็นที่ถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น ร่างกฎหมายลูกกกต. เห็นว่า สมควรที่จะมีกกต.จังหวัดหรือผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือไม่

โดยทางกกต.ยังยืนยันว่าควรมีกกต.จังหวัด แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เห็นควรที่จะปรับปรุงรูปแบบให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ประเด็นการคงอยู่ของกกต. ซึ่งมีผู้เสนอว่าควรจะให้กกต.ชุดปัจจุบันอยู่ต่อไปตามวาระเดิม และบางคนเห็นว่าควรเซ็ตซีโร่ทั้งคณะ และเสนอให้ตรวจสอบคุณสมบัติกกต.บางราย

อย่างไรก็ตาม สนช.ก็มองว่ากกต.เป็นกลไกสำคัญในการเลือกตั้ง ซึ่งการตัดสินใจของสนช.จะต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศและเป็นการปฏิรูปประเทศด้วย ขณะที่ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่อง ทุนประเดิมการจัดตั้งพรรคการเมือง ค่าสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมีสมาชิกพรรคการเมืองแย้งว่า ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนลดน้อยลง

เวทีสัมมนาครั้งนี้ไม่ได้หาคำตอบสุดท้าย แต่อยู่ที่การตัดสินใจของสมาชิกตามกระบวนการ เพราะเป็นดุลพินิจของสมาชิกแต่ละคนอย่างอิสระ แต่อยากให้ตัดสินใจบนพื้นฐานบนข้อมูลที่เพียงพอ

ด้านนายตวง อันทะไชย ประธานกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่ากกต. กล่าวว่า กมธ.พิจารณากฎหมายฉบับนี้ ครบทุกประเด็นแล้ว เหลือ 2 เรื่อง จะประชุมต่อที่รัฐสภาอีก 2 เรื่องในวันที่22 พ.ค. คือ 1.คุณสมบัติของกกต. ชุดปัจจุบัน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้เป็นไปตามกฎหมายลูก 2.กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการการเลือกตั้ง มีความเห็นสองแบบคือ มีและไม่มี โดยการสัมมนาครั้งนี้ มีการพิจารณาร่าง กมธ.พูดทุกครั้งว่า จะพิจารณาบนพื้นฐานของกฎหมายประเทศ ไม่ได้ทำให้เพื่อให้ใครได้ประโยชน์

ทั้งนี้ การทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ได้ดำเนินการหมดแล้ว โดยนำความเห็นจากสถาบันวิจัยมาประกอบ รวมทั้งรายงานการรับฟังความเห็นของ สปท. และ กรธ.มาเป็นองค์ประกอบในการร่าง รวมทั้งการแถลงข่าว ที่ถือเป็นการสื่อสารกับประชาชน ยืนยันว่าเราทำครบถ้วนแล้ว

สำหรับคุณสมบัติของของกกต.ชุดปัจจุบัน  นายตวง กล่าวว่า ความจริงเรื่องการอยู่หรือไม่อยู่ไม่ใช่เรื่องของการขัดรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเปิดพื้นที่เพื่อให้การออกแบบการเลือกตั้งเท่านั้นเอง โดยสามารถไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ที่ระบุว่าการอยู่หรือไปของกกต.นั้นให้เป็น ไปตามกฎหมายลูก

"การพิจารณากฎหมายลูกเรายึดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ที่เขียนถึงการอยู่การไปของกกต.ไว้ และกฎหมายนี้เป็นหนึ่งใน 10 ฉบับที่จะปฏิรูปประเทศ และจัดกลไกในการบริหารจัดการเลือกตั้ง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านประเทศ ถึงแม้ว่าเราจะตัดสินใจว่าจะใช้ร่างของใครเป็นหลัก แต่เราจะต้องยึดประโยชน์ของประเทศ เพื่อให้ทันต่อการบริการการเลือกตั้ง"นายตวง ระบุ

ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ของสนช. กล่าวว่า พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีความสำคัญ กำหนดอำนาจหน้าที่ของพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง การพิจารณาของกมธ. ยังมีประเด็นที่ติดค้าง คือ 1.ทุนประเดิมของพรรคการเมือง 2.การจ่ายค่าบำรุงพรรคของสมาชิกพรรคการเมือง กมธ.เห็นว่า จำนวนเงินไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือกระบวนการจัดเก็บ กมธ.ได้ประสานธนาคารต่างๆของรัฐในการจัดเก็บค่าบำรุง และ 3.การปฏิให้สมาชิกมีส่วนเข้ามาคัดเลือกตัวแทนลงสมัครที่ชัดเจน กมธ.เห็นว่า ควรให้สมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัครสส.แบบเขต และเป็นผู้เลือกผู้จัดลำดับแบบบัญชีรายชื่อ โดยกมธ.จะนำทั้ง 3 เรื่องกลับไปพิจารณากันต่อที่รัฐสภาเช่นกัน ซึ่งการสัมมนามีความคิดเห็นที่หลากหลาย กมธ.จะนำไปประมวลผลและนำมาบัญญัติในร่างกฎหมายนี้ต่อไป

เครดิตภาพ / เฟซบุ๊ก สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย