posttoday

สปท.141เสียงโหวตผ่านร่างกม.คุมสื่อ ให้กมธ.กลับไปแก้ไขก่อนส่งครม.

01 พฤษภาคม 2560

สปท. เห็นชอบ ผ่านร่าง พ.ร.บ.สื่อมวลชน พร้อมให้ กมธ.กลับไปแก้ไข โดยไม่ยอมตั้งกรรมการชุดพิเศษ ก่อนเตรียมส่งให้ ครม. พิจารณาต่อไป

สปท. เห็นชอบ ผ่านร่าง พ.ร.บ.สื่อมวลชน พร้อมให้ กมธ.กลับไปแก้ไข โดยไม่ยอมตั้งกรรมการชุดพิเศษ ก่อนเตรียมส่งให้ ครม. พิจารณาต่อไป

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. มีมติ 141 เสียง เห็นชอบต่อรายงานเรื่องการปฏิรูปสื่อมวลชน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่…) พ.ศ….โดยมี  13 เสียงที่ไม่เห็นด้วย และมีผู้งดแสดงความคิดเห็น 17 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 171 คน หลังจากใช้เวลาอภิปรายนานเกือบ 8  ชั่วโมง ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป กรรมาธิการฯ สื่อสารมวลชนจะกลับไปรวบรวมความเห็นให้สอดคล้องกับข้อเสนอการภิปรายของ สปท.ก่อน นำส่งข้อสรุปให้ประธาน สปท.พิจารณา ก่อนส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการลงคะแนนเสียงในที่ประชุม สปท. ได้มีการประชุมลับในเรื่อง เกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน  สปท. ผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ กล่าวก่อนการลงคะแนนว่า จากเสียงสะท้อนในสังคมกับร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ผ่านมาส่วนตัวยอมถอยมาถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ยอมปรับลดตำแหน่งปลัดและคณะกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งตั้งแต่รับราชการทหารอากาศเป็นนักบินขับไล่มาไม่เคยยอมถอยมากขนาดนี้  ทั้งนี้ในนานตัวแทน กมธ.สื่อ ก็ขอบคุณความเห็นทุกภาคส่วนที่เสนอความเห็นเข้ามา ซึ่ง กมธ.จะนำข้อเสนอไปปรับแก้ต่อไปซึ่งยังเหลืออีกหลายมากขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบทเฉพาะกาล เนื่องจากสื่อมวลชนมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล ก็จะขอให้ตำแหน่ง 2 ปลัดทำหน้าที่ในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติในวาระ 5 ปี เช่นเดียวกับคำถามพ่วงรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี และหลังจากนั้นอาจจะตัดตัวแทน 2 ปลัดออกไป โดยอาจจะไปเพิ่มในส่วนของสื่อจาก 9 เป็น 11 คน หรือ อีกแนวทางหนึ่งก็อาจจะตัดตำแหน่ง 2 ปลัด ออกไปทันที และให้เหลือคณะกรรมการฯ จำนวน 13 คนจาก 15 คน

สำหรับบรรยากาศการอภิปรายของสมาชิก สปท.ในวันนี้ พล.อ.อ.คณิต เริ่มชี้แจงต่อที่ประชุม สปท. ว่า เหตุผลการออกร่างกฎหมายฉบับบนี้ มาจากก่อนหน้านี้การกำกับดูแลเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชน ไม่มีกลไกการตรวจสอบ ทำให้เมื่อมีปัญหาก็จะต้องเข้าสู่กระบวนฟ้องร้องต่อศาล และตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แม้สมาคมสื่อพยายามแก้ไขเรื่องนี้แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นทาง สปท. จึงศึกษาและเห็นควรเสนอให้มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้น เพราะคิดว่าเป็นโอกาสดี ที่จะได้ปฏิรูปสื่อสารมวลชน

แต่เมื่อมีปมความขัดแย้งจากสื่อมวลชนและสังคมเกิดขึ้น ก่อนประชุม สปท.วันนี้ กมธ.จึงได้มีการประชุมร่วมกัน และมีมติเสียงข้างมาก ปรับเรื่องใบอนุญาตเปลี่ยนเป็นใบรับรองหรือบัตรประจำตัวแทน โดยให้บริษัทเจ้าของสื่อเป็นผู้ออกแทน ดังนั้นการปรับเรื่องใบอนุญาตเป็นใบรับรองนี้ จึงมีผลต่อมาตรา 91 และมาตรา 92 ของร่างกฎหมายดังกล่าวที่เกี่ยวกับบททลงโทษผู้ขอใบอนุญาตและผู้ประกอบการ และมาตรา 99 ที่ กมธ.เสนอว่าช่วงเปลี่ยนผ่านเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้ประกอบการวิชาชีพจะได้รับใบอนุญาตโดยทันที และผู้ที่เข้ามาให้ต้องผ่านกระบวนพิจารณา

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.สื่อสารมวลชน กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการลงโทษขององค์กรสื่อ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องบทลงโทษ และระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ประกอบกับปัจจุบันสื่อออนไลน์เกือบทุกอย่างเป็นทั้งนักข่าว ผู้ผลิต บรรณาธิการข่าว และที่สำคัญไม่มีสังกัด รวมถึงมีรายได้ทางอ้อม

ดังนั้น กมธ.จึงต้องกำหนดคำนิยามสื่อในกฎหมายฉบับนี้ให้ครอบคลุมชัดเจน โดยระบุให้ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมมาตรา 92 และยืนยันว่า กมธ. ไม่มีความคิดต้องการจะควบคุมสื่อ แต่คิดว่าผู้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ควรต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจริยธรรมที่กำหนดเพื่อทำให้บุคคลที่เป็นสื่อกลาง นำเสนอเนื้อหาข่าวสารให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะทุกประเภท

ส่วนการที่ต้องนำตัวแทนภาครัฐ 2 หน่วยงาน คือ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาเพราะต้องการให้เข้ามาดูแลเรื่องจดแจ้งการพิมพ์ การกำหนดกรอบจริยธรรมการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นต้น

นางประภาเหตระกูล ศรีนวลนัด ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้มีตัวแทนภาครัฐเข้ามาอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ของกฎหมายฉบับนี้ เพราะการตรวจสอบอำนาจรัฐ หากเมื่อผู้ต้องถูกตรวจสอบ กลับต้องมาทำหน้าที่ตรวจสอบเอง อาจกไม่มีความโปร่งใส เช่นเดียวกับสภาวิชาชีพอื่น ที่จะไม่มีบุคคลภายในเข้าไปเป็นกรรมการ จึงมองว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องให้มีตัวแทนภาครัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้ตัวแทนภาครัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการภายในสภาวิชาชีพฯ และไม่เห็นด้วยกับการให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีใบอนุญาต แม้จะเปลี่ยนจากใบอนุญาตเป็นใบรับรองก็ตาม เพราะจะทำให้มีปัญหาได้

นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่า คำนิยามวิชาชีพสื่อที่ทาง กมธ.ร่างไว้มีขอบเขตกว้างจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ตั้งแต่พระนักเทศน์ นักวิชาการที่ให้ข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากหลายกิจกรรมอาจเข้าข่ายล่อแหลมต่อการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และส่วนตัวมองว่าอาจทำให้ขัดต่อมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงว่า การเขียนกฎหมายในระยะยาวนี้ ที่รัฐบาลอนาคตไม่ใช่รัฐบาล คสช. หรืออาจไม่ใช่รัฐบาลที่ดี ฉะนั้นหากเขียนกฎหมายให้รัฐบาลเข้ามามีอำนาจเหนือสื่อมวลชน ที่เป็นกำแพงสุดท้ายกับการต่อสู้กับรัฐบาล ก็อาจทำให้มีปัญหาได้ ดังนั้นการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ขอให้พิจารณาภาพรวมให้รอบคอบ

นายนิกร จำนง สมาชิก สปท.ด้านการเมือง กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ. เพราะสื่อเป็นเหมือนผู้ที่ทำหน้าที่แทนปากเสียงของประชาชน และขณะนี้มีการต่อต้านเรื่องนี้จากสื่อที่รุนแรงมาก ฉะนั้นการพิจารณาในส่วนนี้ ขอให้พิจารณาให้รอบครอบ และส่วนตัวมองว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายมี 7-8 ประเด็นที่ส่วนตัวมองว่ามีปัญหา ซึ่งมีและหลักการและเหตุผลที่ขัดกันเอง เพราะหลักการที่ต้องการคุ้มครองสื่อมีเพียง 2 มาตรา แต่เหตุผลที่เหลือนั้นมีปัญหา

และปัญหาที่สำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขัดต่อมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ ที่อาจทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนไม่ได้รับข่าวสาร และขัดต่อมาตรา 77 ที่ระบุว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ถ้ารัฐบาลรับไปอาจมีความสุ่มเสียงค่อนข้างมาก

นายนิกร  เสนอว่า ทางออกเรื่องนี้ ภาครัฐ สื่อ และประชาชน ทั้ง 3 ภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยสื่อต้องช่วยดูแลรัฐอย่างให้ทำอะไรผิดพลาดหรือกดดันประชาชน ประชาชนก็ต้องช่วยดูแลสื่อ และรัฐก็ต้องช่วยดูแลด้วย ส่วนการที่สื่อบอกว่าจะดูแลกันเองนั้น ควรต้องบอกรายละเอียดให้ชัดเจนเช่นกัน

นายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า มีความจะเป็นที่ต้องมีสภาวิชาชีพสื่อฯ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ให้คณะกรรมสภาวิชาชีพฯ ที่มาจากข้าราชการและผู้อื่นที่ไม่ใช้สื่อมวลชน เพราะมองว่าอาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย และอาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ก็อาจทำให้อำนาจของนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ผ่านสื่อมวลชนโดยผ่านข้าราชกาประจำ แต่ถึงอย่างไรสื่อก็ควรต้องมีมาตรฐานดูแลตนเองด้วยเช่นกัน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. กล่าวว่า หลักการดังกล่าวเป็นแนวทางปฏิรูปสื่อมวลชนอย่างแท้จริง แต่การจะปฏิรูปสื่อควรต้องสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนก่อน เพราะการจะปฏิรูปหลายครั้งดูเหมือนว่าจะมีการแทรกแซงจากภาครัฐ

ฉะนั้นหากจะปฏิรูปสื่อมวลชน ควรต้องมีแนวทางชัดเจนว่า การปฏิรูปสื่อมวลชนเพื่ออะไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้สื่อมวลชนมีความเข้มแข็ง ไม่ถูกแทรกแซง เพื่อให้เป็นกระบอกเสียงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้เช่นนั้น เท่ากับว่าจะเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชน ทั้งนี้อยากให้ กมธ.ผู้ร่างนำร่างกฎหมายนี้กลับไปพิจารณาปรับหรือตัดส่วน ที่อาจเป็นการแทรกแซงสื่อออกให้หมด

แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องนำผู้แทนหน่วยงานรัฐเข้ามา ก็อาจให้เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ หรือหน่วยงานอื่นที่ตรงกว่าเข้ามาทำงาน ส่วน กสม.ที่เป็นองค์กรอิสระอยู่แล้ว ไม่ควรเข้ามาอยู่ในองค์กรสื่อ เพราะหน้าที่ของ กสม.เป็นองค์กรอิสระอยู่แล้ว แต่ท้ายนี้หลักสำคัญ ควรต้องสร้างความไว้วางใจเพื่อให้เกิดการยอมรับ และให้สื่อมวลชนบริกหารจัดการกันเองโดยที่ไม่ถูกแทรกแซง และการดำเนินการก็ควรทำให้ชัดเจน

ส่วนการที่สื่อออกมาวิจารณ์ขั้วฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นจุดที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่มาจนสร้างความขั้นแย้ง หรือทำให้เกิดความแตกแยก จนกระทบต่อสิทธิต่อประชาชนคนอื่น แนวทางวการแก้ปัญหาต้องแก้ไขต้องดูเป็นรายบุคคล เพราะหากไปแก้ไขทั้งหมด จะเท่ากับเป็นการริดรอนสิทธิสื่อมวลชน เพราะสื่อในประเทศดีก็มีมาก แต่สิ่งที่ไม่ดีก็มี ฉะนั้นควรแก้ไขหรือให้ลงโทษเป็นรายบุคคลไป

นายคุรุจิตร นาครทรรพ สมาชิก สปท.ด้านพลังงาน กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และพร้อมยกมือให้ เพราะมองว่าที่ผ่านมาสื่อไม่มีมาตรฐานในการกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ และล้มเหลวเหมือนในอดีตที่ควรจะเป็นกระจกให้กับสังคม เพราะการดำเนินการของสื่อมวลชนปัจจุบันมีธุรกิจและเรื่องอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงมองว่าการปฏิรูปกฎหมายสื่อมวลชน หรือการให้มีใบประกอบวิชาชีพสื่อจะเป็นก้าวแรก ที่จะยกระดับมาตรฐาน คุณภาพวิชาชีพของสื่อมวลชนให้มีความชัดเจนมากขึ้น

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าองค์กรสื่อต้องการมีองค์กรที่ปกครองดูแลกันเอง ซึ่งถ้าทำได้และมีอำนาจทางกฎหมายรองรับเชื่อว่าจะไม่มีบุคคลใดปฏิเสธ ควบคู่กับต้องมีการพัฒนาเสริมสร้างความรู้อละฝึกอบรมอยู่ตลอดเพื่อให้สื่อมวลชนได้มีการพัฒนาเรื่อยๆ ไปพร้อมกับจะได้มีการควบคุมดูแลในเรื่องจริยธรรมทั้งสื่อปกติและสื่อในโซเชียลมีเดียไปพร้อมกัน ซึ่งถ้าหากทำได้ตามนี้ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสื่อมวลชนและสังคม

แต่ถึงอย่างไรในประเด็นนี้หากสื่อมวลชนไม่พอใจ หากทำไปแล้วทำให้เกิดความขัดแย้งหรือมีปัญหา ขอถามว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ให้ กมธ.ชุดดังกล่าวนำร่างกฎหมายฉบับนี้ กลับไปคุยกับสื่อในประเด็นที่เป็นปัญหากันแบบตรงไปตรงมาเปิดอก เพื่อจะได้เกิดความสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

จากการสอบถามกับการบริหารจัดการสื่อมวลชนของรัฐบาลสิงคโปร์ ก็มีความเข้มงวดและมีอำนาจกำกับดูแลสื่อมวลชนคอนข้างมาก และรัฐบาลมีอำนาจออกใบอนุญาตให้สื่อ จนทำให้องค์กรนานาชาติจัดให้เสรีภาพสื่อมวลชนอยู่ในอันดับ 153 จาก 158 ต่ำสุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

แต่โดยสรุปว่า การเข้มงวดทางกฎหมายของสิงคโปร์นี้ ก็เพื่อรักษาความสมานฉันท์ในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม และเชื่อชาติจากการบังคับใช้ ซึ่งทำให้สถานการณ์การเมืองและสังคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพค่อยข้างสูง  เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย ที่สามารถปิดเว็ปไซด์ที่ส่งผลกระทบต่อศาสนาและสังคมทันที

พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิก สปท. กล่าวว่า เรื่องนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดแนวทางปฏิรูปสื่อแม้จะมีความเห็นต่าง เพราะเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย เพราะสื่อเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนของสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระจกเงาสะท้อนนี้ ไม่ได้เรียบเป็นเส้นตรง แต่บางครั้งมีความเงาหรือความโค้ง ซึ่งมาจากสื่อที่ต้องทำงานแข่งกัน จึงทำให้เกิดการบิดเบี้ยว

วันนี้ที่จากที่ฟังสมาชิก สปท.อภิปรายอาจเห็นตรงกันแล้วว่า สื่อถือเป็นวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการ คือ 1.ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้โดยผ่านการศึกษามา 2.เป็นผู้มีคุณวุฒิ 3.ต้องมีมาตรฐานวิชาชีพ 4.และจริยธรรมวิชีพ ดังนั้นจึงมองว่าสิ่งที่ กมธ. ถือเป็นกฎหมายที่ดี ซึ่งส่วนตัวรอมานาน ดังนั้นมองว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีกฎหมายที่ดูแลในเรื่องการประกอบวิชาชีพ

ทั้งนี้ส่วนตัวขอเสนอทางออกให้มีการปรับแก้ เช่น อาจให้ตัวแทนฝ่ายข้าราชการ 2 หน่วยงานจากตำแหน่งปลัด เปลี่ยนเป็นมาจากตัวแทนคณบดีภาควิชาวารสาศาสตร์หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องเข้ามา ส่วนบัตรหรือใบอะไรที่จะเป็นการระบุตัวตนของสื่อนั้น ก็ควรมีข้อกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำ ให้ชัดเจนซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับ และการออกควรให้เป็นแบบอัตโนมัติ และหากมีข้อร้องเรียน ก็ให้ร้องเรียนไปที่องค์กรสื่อมวลชนเป็นหน่วยงานพิจารณาตัดสิน

พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิก สปท. กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นว่ามีอะไรที่น่ากังวล เพราะสิ่งที่ทาง กมธ.เสนอมา เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยกับที่ประธาน สปท.ได้กล่าวไว้ว่ายังมีอีกหลายขั้นตอนถ้าหากไม่เริ่มเดิม ก็ไม่สามารถถึงจุดหมายที่ลำบาก และคิดว่าเราควรจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะ 10 ปี ที่ผ่านมากลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ก็ใช้สื่อในการตอบโต้กัน