posttoday

ยึดหลักพุทธวิธี แก้ขัดแย้งการเมือง

22 เมษายน 2560

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ได้จัดประชุมเชิงวิชาการ (Focus Group) เรื่อง

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ได้จัดประชุมเชิงวิชาการ (Focus Group) เรื่อง “พุทธวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทยในปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้นำเสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาการเมือง โดยจัดเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งจากการดำเนินการวิจัยเชิงบูรณาการ ภายหลังทำงานการเมืองและเห็นความขัดแย้ง ช่วงถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี

ทำให้รู้สึกว่าทางออกสังคมของทุกปัญหา คือ คนไม่มีคุณธรรมมั่นคง จึงใช้ประโยชน์จากหลักธรรม คุณธรรม และน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาแก้ไขปัญหาทุกปัญหารวมถึงปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งจากการศึกษาเอกสารวิจัย และงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และรายงานจากคณะกรรมการชุดอื่น

ขณะเดียวกัน ได้รับความร่วมมือจากบุคคลมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งนักวิชาการ ประชาชน และผู้เห็นต่างทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เข้าให้ข้อมูลการแก้ไขปัญหาเชิงลึกทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย พบว่ามีหลายประการ

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุต่อว่า จึงใช้หลักคุณธรรมสี่ประการที่ในหลวงได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2549 ซึ่งครองราชย์ครบ 60 ปี ซึ่งช่วงนั้นมีความรุนแรงกว้างขวาง โดยได้นัยพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทางออกจากความขัดแย้งครั้งนั้น จึงใช้มาศึกษาซึ่งสอดคล้องกับหลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยปรับมาประยุกต์สื่อสารและเข้าใจง่ายกับยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแยกออกเป็นสองส่วนสำคัญ คือ ส่วนแรก ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยนำประชาธิปไตยแบบตะวันตกจนถึงขณะนี้ 84 ปี พบว่าการนำมาใช้ไม่นำมาบูรณาการกับความเป็นไทยและในทางศาสนา เป็นเพียงโครงสร้างบนผิว ซึ่งโครงสร้างระดับลึกทุกยุคทุกสมัยไม่ได้ลงไปลึกให้เป็นเนื้อเดียวกัน

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่เกิดต่อมา คือ ความเหลื่อมล้ำทุกมิติ โดยเฉพาะคนในชนบทและสังคมเมืองมีความแตกต่างตั้งแต่การเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมพื้นฐาน ที่ห่างออกไป เมื่อนักการเมืองต้องการแก้ไขปัญหา ต้องเสนอนโยบายตอบโจทย์บางเรื่อง และเกิดปัญหาบางเรื่อง

ขณะเดียวกัน รัฐราชการกับนักการเมืองที่มาจากตัวแทนประชาชนหลัง 2475 การปกครองอยู่กับข้าราชการและอดีตข้าราชการพอสมควร ซึ่งจากปัญหาทั้งหมดทำให้เกิดปัจจัยร้าวลึก เพราะไม่ได้รับการแก้ไขตลอดเวลาที่ผ่านมา พัฒนาปัญหาใหม่ดำรงมาถึงวันนี้

“ที่ผ่านมาไม่มีบูรณาการประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับความเป็นไทย จนเกิดคุณธรรม และมีปัญหาคุณธรรม ทำให้เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่คำนึงถึงประชาชน แสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองตลอดจนการแย่งชิงอำนาจ”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความเหลื่อมล้ำนำมาซึ่งปัญหา สองนคราประชาธิปไตย ทำให้เกิดความคิดเห็นแตกต่างระหว่างกัน เห็นได้จากการสัมภาษณ์คนชนบทและคนเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคนชนบทหวงแหนประชาธิปไตย เพราะเป็นโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากรประเทศชาติ เนื่องจากคนชนบทได้รับโอกาสนี้น้อยกว่าคนในเมือง ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล โดยไม่ได้มองการซื้อสิทธิขายเสียง แต่เลือกคนที่สามารถทำประโยชน์ให้ได้

“คนชนบทคิดว่าเป็นโอกาสเดียวที่ได้รับการแบ่งสิทธิประโยชน์ชาติ เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนของตัวเอง นโยบายรัฐบาลในอดีตทำให้คนชนบทต้องเข้ามาทำงานในเมือง มีการกดราคาค่าแรงขั้นต่ำ ราคาข้าว การเลือกตั้งจึงเป็นโอกาสเดียว เพราะพึ่งนักการเมืองได้มากกว่าข้าราชการ”

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังย้ำว่า การที่คนชนบทหวงแหนประชาธิปไตย เนื่องด้วยคนเมืองมีวิถีชีวิตดีกว่าจากการสนับสนุนของรัฐ ทำให้คนเมืองพึ่งพาการเมืองน้อยกว่าชนบท โดยคนเมืองจะเน้นไปในเชิงคุณธรรมเป็นหลัก และประชาธิปไตยเป็นตัวรอง แตกต่างจากคนชนบท ทำให้คนชนบทตั้งรัฐบาล และเกิดรอยร้าวเรื่องเหล่านี้เรื่อยมา

ขณะที่ปัญหาโครงสร้างรัฐราชการ อำนาจประชาชนผ่านนักการเมืองต่อสู้ตั้งแต่วันแรกเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีนัยตลอด นักการเมืองชูประชาธิปไตย ข้าราชการชูเรื่องการทุจริต จนเกิดการรัฐประหารมาหลายครั้ง แต่ปัญหาการเมืองกลับไม่ได้รับการแก้ไขจริง

“เมื่อมีการรัฐประหาร การเมืองอ่อนแอ รัฐธรรมนูญอ่อนแอ วนติดอยู่กับวงจรเลวร้ายทางการเมือง เกิดรัฐบาลผสม นโยบายเป็นไปได้ยาก นำไปสู่รัฐประหารอีกครั้ง จนนำมาสู่ความวุ่นวายวนอยู่กับความเลวร้ายการเมืองตลอด”

อย่างไรก็ดี เป้าหมายการแก้ไขต้องสร้างพลังรู้รักสามัคคี เปลี่ยนพลังขัดแย้งเป็นพลังขับเคลื่อน พลังประชาธิปไตยเกิดได้ แต่ต้องมีโครงสร้างคุณภาพ คุณธรรม หรือธรรมาธิปไตย ปัญหาเกิดขึ้นจากกฎมนุษย์ทำให้ไม่สามารถแก้ได้ ดังนั้นควรใช้กฎแห่งธรรม

แนวพุทธศาสนาหลักประชาธิปไตยสากล ก่อนมีอำนาจรัฐคนในสังคมอยู่ด้วยความสันติ สิทธิเสรีภาพ ท่ามกลางธรรมชาติ ทฤษฎีอำนาจรัฐของพระพุทธเจ้าสอดคล้องกับสัญญาประชาคมแบบตะวันตก หลักพุทธที่พระพุทธเจ้าสร้างอธิบายโครงสร้างส่วนลึกกับประเทศไทยได้ดีกว่า

“พระพุทธเจ้ายกสันติสุข สิทธิเสรีภาพอันไพบูลย์ ภายใต้ดุลยภาพอันอุดมสมบูรณ์ หรือ อัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ดังนั้นประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นได้ต้องพอเพียง จึงอธิบายโครงสร้างประชาธิปไตยตามหลักปัจจุบัน โดยทุนยิ่งใหญ่สังคมไทย คือ หลักเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม สามารถทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพได้”