posttoday

ต้านปฏิรวบพลังงาน

30 มีนาคม 2560

พลังงานยืนยันไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทน้ำมันฯ “หม่อมอุ๋ย”ย้ำหากกฎหมายผ่านจะคัดค้านต่อ

กรมเชื้อเพลิงฯค้านตั้งบรรษัทน้ำมัน สนช.เดินหน้าโหวตหนุนยึดผลประโยชน์ชาติ

พลังงานยืนยันไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทน้ำมันฯ “หม่อมอุ๋ย”ย้ำหากกฎหมายผ่านจะคัดค้านต่อ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงยังไม่เห็นความจำเป็นในการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (เอ็นโอซี) เนื่องจากรูปแบบการบริหารพลังงานของประเทศมีความเหมาะสมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงพลังงานทำหน้าที่เป็นฝ่ายกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) มีเอกชน เช่น บริษัท ปตท.สผ. และเอกชนรายอื่นทำหน้าที่เป็นโอเปอเรเตอร์ในการสำรวจและผลิต และมีบริษัท ปตท. เป็นผู้ค้า โดยรูปแบบการบริหารถือว่าเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ แต่ก็ถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คือมีรูปแบบเป็นเอ็นโอซีอยู่แล้ว

“การบริหารจัดการมีการคานอำนาจซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ถ้ามีการรวบอำนาจไว้ที่เดียวอาจนำมาซึ่งการผูกขาดและจะเกิดความเสี่ยงกรณีการลงทุน เช่น การเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม ใช้เงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หาก 10 หลุมไม่เจอแหล่งปิโตรเลียม รัฐจะทำอย่างไรกับเงินลงทุนนี้” นายสราวุธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากจะจัดตั้งเอ็นโอซี ตามคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควรจะต้องมี พ.ร.บ.ขึ้นมารองรับโดยเฉพาะ ต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน มีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่หาก สนช.เห็นชอบให้ตั้งบรรษัทขึ้นมาใหม่ รัฐก็ควรต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจน

ด้าน นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการ สนช. (วิป สนช.) กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ จะเดินหน้าไปตามปกติ หากพิจารณาไม่ทันวันที่ 30 มี.ค. ก็จะพิจารณาในวันถัดไปให้เสร็จ เพราะกฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ขณะที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม สนช. ยอมรับว่า ตนเองเป็น 1 ในจำนวนทหาร 6 นาย ที่ผลักดันให้ตั้งเอ็นโอซี แต่ไม่ได้สอดไส้ เพราะได้คุยกันหลายฝ่าย ทั้งใน กมธ.ด้วยกันเอง ซึ่งมีทั้งอยากให้มีและไม่อยากให้ตั้งบรรษัท แต่สุดท้ายก็สรุปให้มีและเสนอไปยังรัฐบาลตามขั้นตอน

“อดีตรองนายกฯ ที่ออกมาคัดค้านจริงๆ ผมไม่เคยรู้จัก ไม่รู้กินยาอะไรมาจากไหนถึงได้ออกมาแบบนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ถือว่าจบในชั้นกรรมาธิการแล้ว ต่อไปเป็นเรื่อง สนช. ผมไม่ได้กดดันอะไร และก็ไม่เคยกลัวใคร” พล.อ.สกนธ์ ระบุ

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษก กมธ. กล่าวว่า พล.อ.สกนธ์ ในฐานะประธาน กมธ.ได้พาคณะไปพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงผลการศึกษา จากนั้นรัฐบาลได้เสนอร่างมาโดยมี 3 วิธีการ คือ การสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ ซึ่งเหมือนผลการศึกษาของ กรธ.

“กมธ.ถามกลับไป 2 ครั้ง ครม.ก็ยังยืนยันแบบเดิม โดยให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม ไม่ใช่ตั้งได้ทันที จึงต้องเขียนไว้กลางๆ เหมือนการปลูกบ้านที่ต้องออกแบบก่อน เป็นไปไม่ได้ที่กรมพลังงานทหารจะมาอยู่ในบรรษัทนี้ เพราะกฎหมายนี้รักษาการโดยรัฐมนตรีพลังงาน ส่วนกรมพลังงานทหารขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหมมีไว้ป้องกันประเทศ ไม่ใช่ทำธุรกิจ” พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยืนยันว่า หากในวันที่ 30 มี.ค.นี้ สนช.ผ่านกฎหมายให้ตั้งเอ็นโอซีได้จะต้องต่อสู้ต่อไปไม่ให้จัดตั้งบรรษัทขึ้นได้