posttoday

พท.ถกปรองดองแนะทุกฝ่ายให้อภัย เลิกเฮทสปีช

08 มีนาคม 2560

‘เพื่อไทย’ ร่วมเสนอปรองดอง รัฐบาล-คสช.ต้องจริงใจ ยึดหลักนิติธรรม พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบความขัดแย้ง ขอทุกฝ่ายให้อภัย เลิกเฮทสปีช แนะ ตั้งกรรมการอิสระมาจากทุกภาคส่วน

‘เพื่อไทย’ ร่วมเสนอปรองดอง รัฐบาล-คสช.ต้องจริงใจ ยึดหลักนิติธรรม พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบความขัดแย้ง ขอทุกฝ่ายให้อภัย  เลิกเฮทสปีช   แนะ ตั้งกรรมการอิสระมาจากทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.เวลา 09.00 น.ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กทม. นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม เดินทางเข้าหารือ พูดคุยกับคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อร่วมสร้างแนวทางความสามัคคีปรองดองพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะตามกรอบ 10 ประเด็น ที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กำหนด

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่แนวทางถกปรองดองของพรรคที่นำเสนอครั้งนี้  ดังนี้

“การปรองดองจะสำเร็จได้ 1.  รัฐบาลและ คสช. ต้องมีความจริงใจในการดำเนินการ  2.  ผู้ดำเนินการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีอิสระ และเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำและการสั่งการ พร้อมปราศจากอคติ พร้อมยึดหลักประชาชนเป็นเจ้าของประชาธิปไตย ถ้าทุกฝ่ายยอมรับในหลักการ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลนี้ไปสู่รัฐบาลเลือกตั้งเป็นไปอย่างสันติ

ทั้งนี้ องค์กรของรัฐจะต้องยึดหลักนิติธรรม และการให้อภัย ซึ่งจะต้องเป็นไปใน 2 แนวทางคือ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งต้องเลิกคิดและหาผลประโยชน์  ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรม นำไปสู่ความสมานฉันท์ ซึ่งต้องค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งที่แท้จริง ไม่ใช่ประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งนั้นเกิดจากทุกฝ่าย พร้อมเสนอให้มีการกำหนดคู่ขัดแย้ง เพราะถือเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และเรื่องอำนาจ ไม่ควรพิจารณาความขัดแย้งเฉพาะเจาะจงแค่เพียง 2 พรรคและกลุ่มการเมืองเพียงไม่กี่กลุ่ม

พรรคเพื่อไทยยังได้เสนอ 3 กระบวนการสร้างความปรองดอง  1. การพิจารณา และยอมรับในสาเหตุร่วมกัน 2. การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งจะต้องนำกระบวนการยุติธรรมเพื่อการสมานฉันท์ไปใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านรวมถึงการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมเยียวยาและรณรงค์ให้ทุกฝ่ายให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกระทำ ลดปัญหาการแก้แค้น พร้อมกำหนดแผนและขั้นตอนตามโรดแมป 3. ต้องหามาตรการส่งเสริมหลักนิติธรรม ป้องกันความขัดแย้งในอนาคต อาทิ ตรวจสอบและปฏิรูปศาล และองค์กรอิสระ ให้มีความเป็นกลาง ไม่ใช้การรัฐประหารเพื่อการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยได้ให้ข้อเสนอเพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมาว่า เพื่อให้การสร้างความปรองดองน่าเชื่อถือ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนนั้น ต้องตั้งคณะกรรมการอิสระที่มาจากทุกภาคส่วน โดยไม่อยู่ภายใต้คำสั่งหรือการครอบงำจากฝ่ายใด พร้อมเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชน เข้าร่วมอย่างเสรี ทั้งนี้ ในส่วนของผลสรุปของแนวทางของการสร้างความปรองดอง ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์และหลักยุติธรรมที่เป็นสากลไม่ใช่การบังคับด้วยอำนาจ”

นายโภคิน พลกุล  แกนนำพรรคเพื่อไทย  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการให้ข้อคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยขยายความเรื่องการให้อภัยซึ่งกันและกันว่า  ในส่วนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ  อย่างกรณีของบ้านเลขที่ 109, 111 ที่ศาลยุติธรรมพิพากษาในที่สุดว่าไม่มีความผิด ก็ยังคิดว่าควรให้อภัย ส่วนคู่ขัดแย้งอื่นๆ มองมุมกว้าง อาจรวมถึงคู่ขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยมากๆ กับคนยากจน ก็ต้องช่วยเหลือกัน คู่ขัดแย้งที่อยู่ในอำนาจก็มีทั้งพรรคการเมือง กองทัพ และราชการ ที่ได้ประโยชน์แฝง รวมทั้งประชาชนที่ต้องการใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นคู่ขัดแย้งไม่ได้มีเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ หรือเสื้อเหลือง เสื้้อแดง แต่ต้องถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้

"ต้องก้าวออกมาพร้อมกัน ลืมอดีตที่มันขมขื่น เพื่อก้าวไปข้างหน้า และมีการขอกันว่าการใช้วาทกรรม คำพูด ประณามใส่ร้ายต้องยุติ เพราะบางทีเรื่องราวไม่มาก แต่วาทกรรมที่ไม่ดีทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกโต้ตอบไปมาไม่จบสิ้น" แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุ

นายโภคินกล่าวว่า ปัญหาหลักอีกข้อหนึ่งคือกระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระจะต้องเป็นกลางอย่างเคร่งครัด อย่าให้รู้สึกว่าเกิดสองมาตรฐาน จึงต้องปฏิรูปให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้  ทุกองค์กรต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจให้ถูกต้อง จุดใหญ่ๆ ที่พูดมานี้ ถ้าพูดมาได้ ความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายก็จะมลายไป คือ 1.หยุดเฮทสปีช (Hate Speech) 2. องค์กรของรัฐอย่ามีอคติ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

"เท่าที่เห็นมาประมาณหนึ่งเดือน ถือเป็นความตั้งใจที่ดี แต่เราอยากเห็นต่อไป เพราะการปรองดองจะต้องใช้ระยะเวลา แม้กระทั่งหลังเลือกตั้งแล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะมีคณะกรรมการอิสระจากทุกภาคส่วน ที่ไม่มีความรู้สึกได้เสีย ให้เข้ามาช่วยทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ และกำหนดโรดแมปการปรองดองให้ชัดเจน ว่าแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร ทุกคนจะได้เตรียมตัวและให้ความร่วมมือ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างไร และอย่าให้เกิดขึ้นอีก"  นายโภคินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การหยุดเฮทสปีช แล้วผู้เกี่ยวข้องยังควรต้องรับผิดชอบที่จะทำให้ผู้สนับสนุนของตนเองลดความรู้สึกเกลียดชังด้วยหรือไม่ นายโภคินตอบว่า ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ที่จะต้องบอกลงไปหรือให้หลีกเลี่ยงอย่าปฏิบัติ อาจจะทำไม่ได้ทุกคน แต่ส่วนหลักๆ ต้องช่วยกันทำให้ได้ และต้องเน้นว่า ถ้าบรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย การปรองดองที่จะต้องเป็นไปตามข้อตกลง ก ข ค มันไม่ใช่ ต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่ายอย่างแท้จริงจึงจะจบ ขออย่าเป็นเพียงพิธีกรรม ขอให้สื่อมวลชน ภาคประชาชน ได้เข้ามาพูด ให้ความเห็นอย่างเสรี เพื่อรวบรวมว่าคนทั่วไปเขามองอย่างไร จะได้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความถูกต้องยิ่งขึ้น

ต่อข้อถามคำว่าการขอให้ทุกฝ่ายอภัย รูปธรรมเชิงกฎหมายคือนิรโทษกรรมหรือมีขั้นตอนอย่างไรนั้น  นายโภคินกล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม เพราะเป็นรายละเอียด ที่ต้องทำความเข้าใจในเชิงหลักการ วิธีคิดให้ตรงกันก่อน เพราะถ้าไปพูดรายละเอียด ก็จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะไม่จบสิ้น อย่างที่บอกผู้เป็นเหยื่อต้องเป็นฝ่ายให้อภัยไม่ใช่ผู้มีอำนาจ สิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงกระทำคือขอโทษ คนก็จะพร้อมให้อภัย ขอให้เริ่มต้นแค่นี้ก่อนดีที่สุด

ต่อข้อถามว่าในพรรคเพื่อไทยเองมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการมาร่วมให้ข้อคิดเห็นครั้งนี้นั้น นายโภคินตอบว่า ทางพรรคเห็นว่าบ้านเมืองจำเป็นต้องมีการปรองดอง เพราะฉะนั้นก็ควรมาเข้าร่วม ไม่ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มก็จะเข้าร่วม เพราะถ้าปฏิเสธก็เท่ากับไม่อยากเห็นการปรองดองอย่างแท้จริง ในอดีตเกือบทุกรัฐบาลก็พยายามทำ แต่อาจเพราะกำลังคุกรุ่นจึงยาก แต่วันนี้เชื่อว่าทุกคนตระหนักว่า จำเป็นต้องทำให้เกิดความปรองดองแล้ว อย่าไปเกี่ยงว่าใครจะริเริ่ม

เมื่อถามต่อว่าในที่ประชุมมีการส่งสัญญาณหรือไม่ว่าการปรองดองได้หรือไม่จะมีผลต่อการเลือกตั้งนั้น นายโภคิน กล่าวว่าได้ย้ำแล้วว่า การปรองดองต้องเกิดจากทุกคนมีส่วนร่วมและต้องเดินไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง แต่ขั้นตอนอาจจะไม่จบแค่ 3 เดือน 6 เดือน เพียงแต่การกำหนดกรอบ การสรุป การรับฟังประเด็นอาจต้องจบเร็วหน่อย จากนั้นต้องใช้เวลา ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีส่วนร่วมและตัดสินใจ จึงจะตอบโจทย์

พท.ถกปรองดองแนะทุกฝ่ายให้อภัย  เลิกเฮทสปีช