posttoday

เลิกแล้วค่ะ

07 กันยายน 2553

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงเลิกยุ่งกับประเด็นเงินบาทแข็งไปสักพัก ด้วยเหตุที่รู้แล้ว การที่ค่าเงินแข็ง มันจะทำให้การส่งออกพังพาบไปจริงหรือไม่

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงเลิกยุ่งกับประเด็นเงินบาทแข็งไปสักพัก ด้วยเหตุที่รู้แล้ว การที่ค่าเงินแข็ง มันจะทำให้การส่งออกพังพาบไปจริงหรือไม่

เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็ง ต้องไปดูว่า แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับอะไร โดยการนำเฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมาอ้างอิง คงเป็นภาพที่บิดเบือน

เช่นจะไปเทียบว่าค่าเงินบาทเคยอยู่ที่ระดับ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้มาอยู่ที่ 31-32 บาท ถือว่าเงินแข็งเกิน ใครขืนคิดอย่างนี้เห็นทีเข้ารกเข้าพง

การเทียบเงินบาทอ่อน หรือแข็ง ต้องเทียบกับค่าเงินสกุลหลักๆ ของประเทศคู่แข่ง และประเทศคู่ค้าของไทย ไม่ใช่เอามาเทียบตามช่วงเวลา

เพราะค่าเงินอ่อนหรือแข็ง ล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น

อาทิ หากจะทำให้ค่าเงินอ่อน ผู้แบกรับต้นทุนคนแรกคือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน และจะทำให้ขาดทุนบักโกรก เนื่องจากต้องไปซื้อเงินดอลลาร์เข้ามา ขายเงินบาทออกไป สุดท้ายเมื่อค่าเงินดอลลาร์เสื่อมค่าลงเรื่อยๆ ก็เจ๊งกับเจ๊ง

นอกจากนั้นการที่ค่าเงินอ่อน ก็มีต้นทุนมหาศาลแฝงอยู่ นั่นคือสินค้านำเข้าจะแพง โดยเฉพาะน้ำมัน

อย่าลืม ประชาชนทั้งประเทศใช้น้ำมัน และน้ำมันคือต้นทุนในการผลิตสินค้า ต้นทุนค่าขนส่ง

หากค่าเงินบาทอ่อนเกินจริง ประชาชนคนไทยต้องจ่ายให้กับราคาน้ำมันที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น

นี่แหละ คือต้นทุนของเงินบาทอ่อน

ยิ่งถ้าไปคิดถึงประเด็นที่ว่าเงินบาทอ่อน ใครได้ประโยชน์ ก็น่าจะทำให้เห็นภาพชัดกว่าเดิม

แน่นอน สิ่งที่จะได้จากค่าเงินบาทอ่อน การส่งออกดี คือตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโต งดงาม

แต่บรรทัดสุดท้ายค่าเงินบาทที่อ่อน คนได้ประโยชน์คือผู้ส่งออก

และผู้ส่งออก ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ก็เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

สิ่งตกหล่นลงมาบ้างคือค่าแรงงาน ขณะที่กำไรเป็นชิ้นเป็นอัน โน้น ขาใหญ่จมูกโด่ง ตาตี่ เอาไปหมด

การพูดถึงประเด็นค่าเงินบาทอ่อน จึงต้องมีการเทียบให้ชัด โดยต้องเทียบกับความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ

และวิธีการเทียบดังกล่าว ก็คือสิ่งที่ธนาคารชาติทำอยู่แล้ว นั่นคือการนำค่าเงินบาทเทียบกับประเทศคู่แข่ง และคู่ค้าสำคัญๆ ขณะเดียวกันอาจเทียบเคียงไปถึงสินค้าส่งออกหลักของไทย กับประเทศคู่แข่งด้วย

อย่านำสินค้าใดสินค้าหนึ่งมาพูดอย่างเดียว แต่นำสินค้าส่งออกทั้งหมด ถ่วงด้วยน้ำหนักของมูลค่าการส่งออก คิดคำนวณออกมา จึงจะเห็นภาพชัด

ทั้งหมด น่าจะทำให้ประเด็นค่าเงินอ่อนหรือแข็ง ไม่ใช่กลายเป็นปมขัดแย้ง หรือประเด็นหาเสียงทางการเมืองอีกต่อไป

อะไรที่ซ้ำซาก ฟังแล้วมันแสนจะน่าเบื่อจริงๆ