posttoday

แรงงานเตรียมศึกษาเปลี่ยนชื่อกระทรวง

23 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน เผย เตรียมศึกษาเปลี่ยนชื่อกระทรวงให้เข้ากับงานในอนาคต ด้าน กสร.คาดปี 60 สามารถออกกฎหมายคุ้มแรงงานแรงงานนอกระบบได้

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน เผย เตรียมศึกษาเปลี่ยนชื่อกระทรวงให้เข้ากับงานในอนาคต ด้าน กสร.คาดปี 60 สามารถออกกฎหมายคุ้มแรงงานแรงงานนอกระบบได้

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.  ที่กระทรวงแรงงาน  พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่ากการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ,นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงฯ. รวมหารือพูดคุยกับสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ครั้งแรก

พล.อ.เจริญ เปิดเผยว่า ในวาระการปฏิรูปของกระทรวง ขณะนี้มีแนวคิดศึกษาที่จะเปลี่ยนชื่อกระทรวงแรงงาน เป็นชื่ออื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ที่จะต้องทำให้คนงานไทยเป็นแรงานที่ต้องใช้ทักษะสมองมากขึ้น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาภายในกระทรวงแรงงาน มีกระแสพูดถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนชื่อกระทรวงแรงงานแล้ว อาทิ ชื่อกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ หรือกระทรวงคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น

ขณะที่แนวทางการดูแลแรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าวของสำนักงานประกันสังคม ขณะนี้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดูแลแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 9 กระทรวง อาทิ กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์โดยจะเน้นดูแล 3 เรื่องหลักคือ การส่งเสริม การคุ้มครอง และการพัฒนา ซึ่งจะต้องส่งเสริมการสร้างรายได้และตลาดการจำหน่ายสินค้า ส่วนผลการทำประชาพิจารณ์ยุทธศาสตร์การดูแลแรงงานนอกระบบ ยังพบว่าที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ฉะนั้นจะมีการปรับแก้ไข เช่น เรื่องการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ การสร้างรายได้ที่เข้มแข็งที่ต้องเน้นการสร้างผู้นำในระดับพื้นที่ เพื่อให้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนงาน ซึ่งมองว่าอาจนำอาสาสมัครแรงงานมาพัฒนาให้เป็นผู้นำในระดับชุมชน ปริมาณแรงงานนอกระบบเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40

ขณะที่ความคืบหน้าการศึกษาเพื่อที่จะนำกลุ่มงานคนรับใช้ในบ้าน เข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 นั้น ฝ่ายผู้แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงว่า จากที่ให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปทำการศึกษาวิจัย พบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลยังไม่ได้รับความร่วมมือจากกนายจ้าง และนายจ้างไม่พร้อมแปรสภาพบ้านให้เป็นสถานประกอบการ ดังนั้น สปส.จึงมีทางเลือกให้เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 และควรมีการกำหนดกรอบให้ลูกจ้างในการคุ้มครองในอนาคตโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบสมัครเป็นผู้ประกันตนเพียง 2.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกันตนกว่า 21 ล้านคน อีกทั้ง สปส.อยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายประกันสังคม และคาดว่าในปีนี้ สปส.จะพิจารณาออกรูปแบบสิทธิประโยชน์แล้วเสร็จและนำเสนอตามขั้นตอนต่อไปได้

ด้าน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ย้ำว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยในกฎหมายได้เพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กให้สูงขึ้น คือ กฎหมายเดิมระบุว่า หากพบมีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีโทษปรับ 2 แสนบาทบาท/การจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 ราย ได้เพิ่มเป็นปรับตั้งแต่ 4-8 แสนบาท/การจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 ราย ขณะเดียวกันหากเด็กได้รับอันตราย ก็มีโทษปรับสูงขึ้น 8 แสน – 1.2 ล้านบาท ดังนั้น ขอเตือนนายจ้างอย่ามีการจ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน หากตรวจพบจะเอาผิดอย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ทาง รมว.แรงงาน ได้สั่งให้ กสร.พิจารณาเรื่องของการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 60 นี้ คาดว่า กสร. จะสามารถมีการพิจาณราออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบนำมาบังคับใช้ได้ ควบคู่กับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งการออกกฎหมายจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะแรงงานในกลุ่มนี้มีการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะ กลุ่มงานภาคการเกษตร และกลุ่มผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุม